วันนี้ (18 ม.ค.2562) นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ว่า วันนี้ปริมาณ PM 2.5 มีแนวโน้มลดลง ส่วนข้อกังวลของหลายฝ่ายที่ต้องการให้กรุงเทพฯ เป็นเขตควบคุมมลพิษนั้น มองว่าขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินมาตรการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเข้มงวด เช่น เพิ่มจุดตรวจควันดำจากรถยนต์ที่จะเข้ามาในพื้นที่เมืองจากเดิม 12 จุดเป็น 20 จุดเพื่อไม่ให้รถควันดำเข้ามาในพื้นที่ชั้นใน การทำฝนเทียมที่มีการขึ้นบินทุกวัน และกระทรวงคมนาคมสั่งให้เร่งคืนผิวจราจรบริเวณที่ก่อสร้างรถไฟฟ้า เพื่อลดการจราจรติดขัดซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ PM 2.5 เพิ่มขึ้น
หลังทำฝนเทียม เมื่อวันที่ 15 ม.ค. พบว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กลดลงเกือบทุกจุด แต่อยากให้ลดลงมากกว่านี้
ส่วนข้อเสนอให้ปรับมาตรฐานการตรวจวัด PM 2.5 จากที่ไทยกำหนดค่ามาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) เป็นมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (25 มกค./ลบ.บ.) จะต้องรอให้ผู้ประกอบการน้ำมันมีความพร้อมเพื่อปรับเปลี่ยนสู่ค่ามาตรฐาน ยูโร 5 เบื้องต้นรัฐบาลได้เรียกผู้ประกอบการเข้ามาหารือ พบว่ามีผลกระทบหลายหมื่นล้านบาท และขอเวลาในการปรับตัว 4-5 ปี แต่ตนขอให้ลดระยะเวลาเหลือ 2-3 ปี
คพ.อยากทำนะ ปรับตามมาตรฐานสากลเพราะคุณภาพจะดีขึ้น แต่มาตรฐานน้ำมันรถในไทยยังเป็นยูโร 4
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ คาดการณ์ว่า วันที่ 19-20 ม.ค.นี้ สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ระบุว่าช่วงเวลาดังกล่าวจะมีความกดอากาศสูงแผ่ลงมาปกคลุมและอาจทำให้สภาพอากาศปิด แต่มั่้นใจว่าหากดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวดจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น