วันนี้ (30 ส.ค.2561) นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยผลการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 5 ว่า ตั้งแต่วันนี้จนถึง 1 ก.ย.นี้ ประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจากย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวตังเกี๋ยจนเกิดฝนตกหนัก และตกซ้ำที่เดิม
โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานตอนบน บริเวณนครพนม หนองคาย มุกดาหาร สกลนคร และภาคเหนือ บริเวณน่าน พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังทำให้เกิดฝน จึงต้องเฝ้าระวังและคุมเข้มการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ตั้งแต่เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีปริมาณน้ำระดับน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุอ่าง ด้วยการเร่งระบายน้ำต่อเนื่อง
จะปรับแผนการระบายน้ำใหม่ใน 2 เขื่อนหลักที่มีน้ำสูงกว่าร้อยละ 90 และฝนตกต่อเนื่องเติมน้ำลงอ่าง เพราะช่วงกลางเดือนก.ย.นี้ จะมีฝนมากขึ้น คือเขื่อนวชิราลงกรณ มีปริมาณน้ำอยู่ 93% ระบายน้ำออกวันละ 53 ล้านลบ.ม.จนถึงวันที่ 3 ก.ย.นี้ จากนั้นจะปรับเพิ่มอีกวันละ 5-10 ล้านลบ.ม.เป็นวันละ 58-63 ล้านลบ.ม.
ภาพ:สทนช.
ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำด้วย โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประเมินผลกระทบท้ายน้ำจากการระบายเพิ่มเติมบริเวณแม่น้ำแควน้อย ส่วนเขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 90 ระบายน้ำออกวันละ 25 ล้านลบ.ม. จากนั้นจะปรับการระบายเพิ่มอีกวันละ 5 ล้านลบ.ม.โดยไม่กระทบพื้นที่ท้ายน้ำบริเวณแควใหญ่และแม่กลอง โดยแผนระบายใหม่จะแจ้งประชาชนล่วงหน้า 3 วัน
เลขาธิการสทนช. กล่าวว่า เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก และเขื่อนนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีน บุรี ได้จัดระเบียบการจราจรน้ำ และปรับแผนระบายน้ำไม่ให้กระทบ อ.กบินทร์บุรี และ อ.เมือง เพราะยังมีฝนตกหนักต่อเนื่อง
อ่านข่าวเพิ่มเติม
สทนช.เฝ้าระวัง 6 เขื่อนใหญ่ น้ำเพิ่มรวดเร็ว
ข่าวลือ! น้ำท่วมเกาะเมืองอยุธยา-ปทุมธานี แท้จริงยังไม่ท่วม