ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

‘ฉัตรชัย’ สั่งปรับแผนระบายน้ำเขื่อนใหญ่อีกรอบ เตรียมรับฝนรอบใหม่

ภัยพิบัติ
25 ส.ค. 61
10:02
887
Logo Thai PBS
‘ฉัตรชัย’ สั่งปรับแผนระบายน้ำเขื่อนใหญ่อีกรอบ เตรียมรับฝนรอบใหม่
พล.อ.ฉัตรชัย สั่ง กฟผ.ปรับแผนการระบายน้ำในเขื่อนหลักใหม่ทั้งหมดภายใน 7 วัน โดยเฉพาะเขื่อนวชิราลงกรณ ที่ปัจจุบันระบายน้ำออกอยู่ที่ 53 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อเพิ่มศักยภาพการรับน้ำฝนใหม่ที่จะตกลงมา

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 3 ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ได้วางแผนรับมืออิทธิพลจากพายุและร่องมรสุมในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ ที่จะทำให้เกิดฝนตกหนักและหนักมากในบางพื้นที่ แล้วเมื่อเข้าเดือนกันยายนจะเคลื่อนตัวเข้ามายังภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของประเทศ จึงให้เร่งระบายและพร่องน้ำออกจากเขื่อนที่มีปริมาณน้ำระดับน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ

พล.อ.ฉัตรชัย กำชับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กลับไปพิจารณาปรับแผนการระบายน้ำในเขื่อนหลักทั้งหมดอย่างละเอียด ให้ดูสถานการณ์ระดับน้ำในปัจจุบันเป็นปัจจัยประกอบ ไม่ให้ดูอ้างอิงระดับน้ำในอดีตที่ผ่านมา โดยใช้แผนการคาดการณ์สภาพอากาศและน้ำของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. มาประเมินความเป็นไปได้ให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน
โดยเฉพาะเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี ที่ระบายน้ำออกอยู่วันละ 53 ล้านลูกบาศก์เมตร ให้กลับไปปรับแผนให้เพิ่มการระบายน้ำเป็น 63 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กทั้งหมดให้ สทนช.เร่งรวบรวมข้อมูลแล้วให้ สสนก. และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า เพื่อจัดทำแผนที่บูรณาการ 3 หน่วยงานการพยากรณ์อากาศและคาดการณ์ฝน (One Map) เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลใหม่ เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำและระบบน้ำต้นทุนของประเทศใหม่ให้เป็นระบบเดียวกัน

นายสมเกียรติ กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อน (ดีเปรสชั่น โซนร้อน และไต้ฝุ่น) เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 1-2 ลูก ช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม และมีโอกาสสูงที่พายุจะเคลื่อนเข้าสู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของไทย

ส่วนช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม พายุมีโอกาสจะเคลื่อนเข้ามาใกล้หรือเคลื่อนเข้าสู่บริเวณภาคใต้ ภาพรวมพบมีอ่างเก็บน้ำหลายแห่งมีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก แต่กลับพบมีอ่างเก็บน้ำจำนวนไม่น้อยมีปริมาณน้ำค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้

จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมและมาตรการรับมือสถานการณ์น้ำน้อย เช่น แผนการทำฝนหลวงในพื้นที่อ่างเก็บน้ำที่มีความจุน้อยกว่าร้อยละ 30 รวมทั้งให้เตรียมการจัดทำแผนการส่งน้ำและการเพาะปลูกพืชหน้าแล้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง