ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พรุ่งนี้ เปิดให้สื่อพบ "13 หมูป่า" แนะตั้งคำถามเชิงสร้างสรรค์

สังคม
17 ก.ค. 61
10:20
4,077
Logo Thai PBS
พรุ่งนี้ เปิดให้สื่อพบ "13 หมูป่า" แนะตั้งคำถามเชิงสร้างสรรค์
มีรายงานว่าแพทย์อนุญาตให้ทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย 13 คน กลับบ้านได้ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย อาจเปิดให้สื่อมวลชนได้พบกับทั้ง 13 คนอย่างเป็นทางการ ในวันพรุ่งนี้ (18 ก.ค.)

วันนี้ (17 ก.ค.61) ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย แจ้งกำหนดการจัดแถลงข่าว "ส่งน้องๆ ทีมหมูป่ากลับบ้าน" ในวันที่ 18 ก.ค.นี้ เวลา 18.00 น. (ช่วงรายการเดินหน้าประเทศไทย) โดยจัดที่ห้องประชุมคชสาร องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ทั้งนี้ ขอความร่วมมือสื่อมวลชนส่งคำถามก่อนล่วงหน้า เพื่อที่ให้นักจิตวิทยาคัดกรองความเหมาะสม เนื่องจากต้องระมัดระวังในเรื่องของจิตใจ

ขณะที่แพทย์ ระบุว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงหลังโค้ชและนักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย 13 คน ออกจากโรงพยาบาล คือ ผลกระทบทางด้านจิตใจระลอกที่ 2 โดยขอให้ทุกฝ่าย ทั้งสื่อมวลชน ผู้ปกครอง คำนึงถึงสิทธิของเด็ก ความปลอดภัย และความพร้อม เพื่อให้เด็กกลับไปใช้ชีวิตตามเดิมได้เร็วที่สุด

สำหรับผู้ประสบภัยทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย 13 คน ได้รับการดูแลรักษาจากทีมแพทย์จิตแพทย์ พยาบาล สหวิชาชีพของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์อย่างใกล้ชิด ทุกคนสุขภาพร่างกายดีขึ้น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2-3 กิโลกรัม และอยู่ในช่วงการเตรียมความพร้อมด้านจิตใจ ทำกิจกรรมกลุ่มตามกระบวนการทางจิตวิทยา

ส่วนแผนการดูแลต่อเนื่องหลังออกจากโรงพยาบาล ได้ให้โรงพยาบาลแม่สายและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ร่วมกันดูแลทั้งด้านสุขภาพกายและจิตใจ ร่วมกับทีมหมอครอบครัวและครูในโรงเรียน โดยมีสมุดคู่มือสุขภาพ ให้คำแนะนำด้านโภชนาการ การดูแลสุขภาพและการติดตามน้ำหนักตัว ซึ่งได้ประสานงานกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในการติดตามผลในระบบโรงเรียนแล้ว

 

คาด "หมูป่า" กลับบ้าน 19 ก.ค.นี้

ขณะที่ นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ทั้ง 13 คนจะอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เบื้องต้นมีกำหนดออกจากโรงพยาบาลในวันที่ 19 ก.ค.นี้ และมีรายงานว่า นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย จะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้พบกับทั้ง 13 คน รวมถึงผู้ปกครองอย่างเป็นทางการด้วย

 

แนะใช้หลักสากลตั้งคำถามผู้ประสบภัย งดดราม่า

ด้าน นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือการผลกระทบทางด้านจิตใจระลอก 2 จึงมีคำแนะนำข้อควรระมัดระวังในการถามเด็ก และข้อเสนอแนะในเชิงจิตวิทยา ซึ่งสอดคล้องกับหลักสากล 2 ประการ ได้แก่

1.ควรจะปฏิบัติต่อทุกคนเทียบเท่ากับเป็นผู้ประสบภัย ซึ่งตามแนวทางการดูแลและคุ้มครองเด็กที่เป็นผู้ประสบภัยขององค์การอนามัยโลก และองค์การยูนิเซฟ เน้นว่าทุกคนมีหน้าที่ในการช่วยกันคุ้มครองสิทธิและคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งทางกายและจิตใจของเด็กอย่างสูงสุดในช่วงเวลาการฟื้นฟูหลังเหตุการณ์, เน้นการให้เวลา ให้พื้นที่ความเป็นส่วนตัว เพื่อให้เด็กกลับเข้าสู่สภาวะการใช้ชีวิตตามปกติให้เร็วที่สุด ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูทางจิตใจและสังคมของเด็กดีที่สุด การนำมาออกรายการต่างๆ อาจเป็นผลลบที่ส่งผลกระทบต่อเด็กๆ ได้ในหลายรูปแบบ

2.การสัมภาษณ์หรือออกข่าวเด็กและโค้ช ควรคำนึงถึงความพร้อมของเด็กเป็นสำคัญ สื่อและคนรอบข้างควรคำนึงถึงประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิเด็ก โดยเฉพาะการถามเพื่อสร้างเรื่องราวให้ดูเหมือนเป็นละคร จะยิ่งทำให้เกิดผลกระทบทางจิตใจเชิงลบได้ เช่น การทำให้รู้สึกผิดเกินจริง การถูกเป็นเป้าสายตาในช่วงระยะหนึ่งและหายไปเมื่อกระแสข่าวซาลง ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็กในรูปแบบหนึ่ง

ด้าน พญ.รัชนี ฉลองเกื้อกูล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า การสัมภาษณ์เด็กควรมีน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อให้เด็กกลับไปใช้ชีวิตปกติของตนเองให้เร็วที่สุด ลักษณะคำถามที่ควรใช้คือคำถามปลายเปิดและเป็นเชิงบวก ให้เด็กได้เล่าเรื่องราวเองตามความพร้อมของแต่ละบุคคล ได้ทบทวนและรู้สึกถึงความภาคภูมิใจในความสามารถที่เด็กใช้ดูแลตัวเองและทีม และความเข้าใจต่อการช่วยเหลือของผู้ใหญ่ใจดีทั้งคนไทยและต่างชาติ

ทั้งนี้ ควรระวังและหลีกเลี่ยงการใช้คำถามชี้นำ การรุกเร้าจี้ถามซ้ำๆ เหมือนถามผู้ต้องหา คำถามเชิงตำหนิเรียกร้องความรับผิดชอบ เรียกร้องให้สัญญาในสิ่งที่เด็กไม่พร้อมทำ หรือทำไม่ได้ เพราะจะยิ่งทำให้เด็กรำลึกถึงเหตุการณ์ที่หวาดกลัว เกิดความรู้สึกผิดที่เกินกว่าความเป็นจริง อาจส่งผลต่อพัฒนาการบุคลิกภาพของเด็ก

นอกจากนี้ ควรเสนอข่าวอย่างสร้างสรรค์ เช่น ถอดบทเรียนการเอาตัวรอดจากเหตุภัยพิบัติ การวิเคราะห์ทักษะชีวิตที่จำเป็นสำหรับเด็ก ไม่ควรเสนอข่าวที่มุ่งเน้นการสร้างกระแสข่าว ตีความเอง หรือดราม่า เพราะอาจเป็นการทำร้ายจิตใจของเด็กและครอบครัว รวมทั้งทำให้ประชาชนที่ติดตามข่าวผูกโยงเหตุการณ์ชีวิตตนเองกับเหตุการณ์ภัยพิบัติจนส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของประชาชนได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง