วันนี้ (16 ก.ค.2561) นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยาน ได้สั่งปิดวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เป็นการชั่วคราวอย่างไม่มีกำหนดไม่ให้บุคคลใดเข้าไปในบริเวณถ้ำหลวงอย่างเด็ดขาด จนกว่าจะดำเนินการฟื้นฟูและปรับปรุงพื้นที่ให้กลับคืนสภาพดังเดิมอย่างสมบูรณ์ก่อน เพราะแม้แต่ลานหญ้าที่เคยเป็นจุดที่ให้ผู้สื่อข่าวอยู่ยังกลายเป็นลานดินที่เทด้วยหินคลุก ยอมรับหลายจุดมีการเสียหาย
ยอมรับถ้ำหลวง เสียหายหนัก แต่ยังประเมินไม่ได้ทั้งหมด เพราะภายในถ้ำยังมีน้ำท่วมขังต้องรอหน้าแล้งก่อนว่ามีอะไรที่เสียหายบ้าง ขณะนี้อุปกรณ์การแพทย์ ระบบสายไฟฟ้า และอื่นๆยังทิ้งอยู่ในถ้ำหลวง ทั้งหมด ซึ่งวันนี้ปริมาณน้ำเข้าท่วมเต็มจนถึงปากถ้ำแล้ว ส่วนภายนอกมีทั้งการขุดเจาะน้ำบาดาล ทำลานเฮลิคอปเตอร์ การขุดโพรง การเบี่ยงทางน้ำ จะต้องฟื้นฟู
นายธัญญา กล่าวว่า สำหรับแผนฟื้นฟูแบ่งออกเป็น 3 แนวทาง ทั้งระยะเร่งด่วน และระยะยาว อยู่ระหว่างเตรียมเสนอพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือทส. โดยร่างแผนที่กำหนดคร่าวๆ ยังไม่ลงรายละเอียดงบประมาณ และยังไม่สามารถบอกเวลาที่ต้องใช้ในการฟื้นฟูแต่ละจุดว่าจะต้องใช้เวลากี่เดือน กี่ปี โดยแผนฟื้นฟูต้องฟังเสียงนักวิชาการ และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องเช่น กรมทรัพยากรธรณี ทุกภาคส่วนเพื่อให้ครบถ้วนและแผนออกมาสมบูรณ์ที่สุด
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช
เตรียมรับฟังเสียงประกาศอุทยานฯ-ชี้ไม่รีบรับนทท.
ส่วนการเสนอให้วนอุทยานถ้ำหลวง เป็นอุทยานแห่งชาตินั้น นายธัญญา บอกว่า เบื้องต้นได้ส่งเจ้าหน้าที่สำรวจพื้นที่เพิ่มเติม และทำประชาพิจารณ์รับฟังเสียงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยรอบวนอุทยานถ้ำหลวงว่าเห็นด้วยหรือไม่ หากยกระดับ และประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติในอนาคต โดยการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ต้องต้องควบคุมนักท่องเทียวให้พอดี และไม่กระทบต่อประชาชนในพื้นที่ และวิถีชีวิตด้วย แต่ทั้งหมดนี้กรมอุทยานฯ ไม่เร่งรีบที่จะเปิดการท่องเที่ยว เพราะทุกอย่างต้องรอการฟื้นฟูความเสียหาย และมีความพร้อมทุกด้านให้ครบก่อน
กำลังสำรวจพื้นที่เพิ่มเติมคร่าวๆ เพื่อผนวกพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งวนอุทยานถ้ำหลวงมีพื้นที่ 5,000 ไร่ จำเป็นต้องหาเพิ่มที่ป่าสมบูรณ์เหมาะสมผนวกให้ได้มากกว่า 10,000 ไร่ สิ่งที่จะตามมาประชาชนในพื้นที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างรายได้เพิ่มขึ้น มีแหล่งท่องเที่ยวอุดมสมบูรณ์ และใช้กฎหมายอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 เข้ามาดูแลและบริหารจัดการ จัดเก็บรายได้มาใช้พัฒนาอุทยาน และบริการนักท่องเที่ยวได้ดีขึ้น จากปัจจุบันวนอุทยานถ้ำหลวงได้รับงบเพียงแค่ปีละ 500,000 บาท ซึ่งคาดว่าต้องใช้ระยะเวลาในการสำรวจพื้นที่ และทำประชาพิจารณ์อย่างละเอียดรอบคอบที่สุด
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช
สำรวจถ้ำทั่วประเทศรับมือภัยพิบัติ
ขณะที่นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า การผนวกวนอุทยานถ้ำหลวง เป็นอุทยานแห่งชาติ ได้มองพื้นที่ผนวกเพิ่มเติมไว้แล้ว 2 แห่ง อยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสม โดยไม่มีประชาชนอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว พร้อมทั้งจะร่วมกับกรมทรัพยากรธรณีสำรวจแนวรอยเลื่อน และการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกด้วย เนื่องจากถ้ำหลวง อยู่ในแนวรอยเลื่อนแม่จัน ปัจจุบันกรมอุทยานฯ มีถ้ำอยู่ในความรับผิดชอบ 169 แห่ง แบ่งเป็นอุทยานแห่งชาติ 103 แห่ง และวนอุทยาน 66 แห่ง
โดยกรมอุทยานฯ กรมทรัพยากรธรณี และนักวิชาการด้านถ้ำ จะลงพื้นที่สำรวจถ้ำทั่วประเทศ เพื่อวางมาตรการควบคุมการเข้า-ออกถ้ำทุกแห่งให้เป็นระบบเดียวกัน มีแผนผังถ้ำชัดเจน มีระบบการพยากรณ์สภาพอากาศ มีการลงทะเบียนบุคคลที่เข้า-ออกถ้ำ และกำหนดระยะเวลาปิด-เปิดถ้ำให้สอดคล้องกับสภาพอากาศทุกปี ในเบื้องต้นปิดถ้ำแล้วบางส่วนในอุทยานแห่งชาติ 7 แห่ง และวนอุทยาน 3 แห่ง เพื่อความปลอดภัยช่วงหน้าฝน
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช
เปิดแผนฟื้นฟูถ้ำหลวง 3 ระยะ
สำหรับแผนฟื้นฟูถ้ำหลวง เบื้องต้นออกเป็น 3 แนวทาง ทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว ประกอบด้วย การบริหารจัดการ ในระยะเร่งด่วน คือ แบ่งเขตการบริหารจัดการให้มีความชัดเจน ด้วยการกำหนดเขตบริการ อาคารสถานที่ ลานจอดรถ และห้องน้ำ เขตนันทนาการ ที่นั่งพัก สนามหญ้า และถ้ำต่างๆ เขตสงวนหรือหวงห้าม พื้นที่ป่าโดยรอบของพื้นที่วนอุทยานที่มีเปราะบาง และกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์ การเข้า –ออกภายในถ้ำหลวงฯ จัดการให้มีความชัดเจน การจัดให้มีอัตรากำลัง เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเฉพาะด้าน รถกู้ภัยขนาดเล็ก 1 คัน ส่วนระยะยาว คือ การจัดตั้งศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและรักษาความปลอดภัย ด้วยการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 1 หลัง การจัดนิทรรศการบริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว พร้อมด้วยอุปกรณ์ชุดกู้ภัย ระบบการสื่อสารอย่างเต็มรูปแบบ
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช
ขณะที่การรักษาความปลอดภัย คือ ระยะเร่งด่วน ติดตั้งกล้องวงจรปิด 3 แห่ง แห่งละ 16 ตัว บริเวณแหล่งท่องเที่ยวถ้ำหลวง บริเวณแหล่งท่องเที่ยวขุนน้ำนางนอน และบริเวณภายในถ้ำหลวง ปรับปรุงและพัฒนาระบบไฟฟ้าส่องสว่างภายในและนอกถ้ำ
การจัดทำระบบช่วยเหลือฉุกเฉิน โดยการกำหนดจุดเพื่อส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือมายังศูนย์รักษาความปลอดภัย การจัดทำระบบป้ายสื่อความหมายต่างๆ เช่น ป้ายผังบริเวณ ป้ายบอกทิศทางและข้อห้ามต่างๆตามจุดเสี่ยง การติดตั้งระบบตรวจวัดระดับน้ำและการแจ้งเตือน เป็นการติดตั้งระบบการตรวจวัดระดับของน้ำตามลำห้วย เพื่อแจ้งเตือนภัยภายในปากถ้ำหลวง การกำหนดขอบเขตมาตรการควบคุมการเข้า-ออก ของถ้ำหลวงฯ โดยการทำรั้วหรือประตูเข้าภายในถ้ำหลวง
อ่านข่าวเพิ่มเติม
"กรมอุทยาน" วางแผนสำรวจฟื้นฟูถ้ำหลวง เชื่อติดอันดับท่องเที่ยวยอดฮิต
"ปิดถ้ำหลวง" 6 เดือน เตรียมฟื้นฟูหลังจบภารกิจช่วยทีมหมูป่า
รื้อท่อบายพาส 3.8 กิโลเมตรคืนระบบน้ำ"ถ้ำหลวง"