วันนี้ (26 มิ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนพรัตน์ กันทะวงค์ โค้ชทีมฟุตบอล "หมูป่าอะคาเดมีแม่สาย" เปิดเผยว่า ปกติตัวเองจะเป็นผู้คุมทีมฟุตบอล แต่วันดังกล่าวติดภารกิจ จึงให้นายเอกพล กันทะวงค์ ซึ่งเป็นญาติกันและเป็นโค้ชอีกคน เป็นผู้ดูแลการฝึกซ้อม คาดว่าหลังซ้อมเสร็จจึงชักชวนกันไปเที่ยวในถ้ำ แต่เกิดฝนตกน้ำท่วมออกมาไม่ได้ และจากการการพูดคุยทางไลน์ ได้สั่งให้เด็กนำไฟฉายไปด้วย ประกอบกับโค้ชก็พกกล่องยาปฐมพยาบาลเสมอ จึงคาดว่าภายในมีแสงสว่าง อาหาร และยา
ขณะที่นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการอาหาร กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การติดในถ้ำ 4 วัน เด็กจะอดน้ำกับ อาหาร แต่มั่นใจว่าเด็กๆ จะไม่ขาดน้ำ เพราะในถ้ำน่าจะมีน้ำเพียงพอให้ดื่มประทังชีวิตได้ เนื่องจากโดยปกติร่างกายถ้าขาดน้ำ 2-3 วันจะเสียชีวิต แต่ถ้าอดอาหารร่างกายจะดูดซึมอาหารจากแหล่งอาหารที่สะสมไว้ กล่าวคือการนำกลูโคส ที่เป็นน้ำตาลมาใช้เป็นพลังงานให้กับร่างกายโดยส่วนนี้จะนำมาแปลงเป็นพลังงานได้ 1-2 วัน และขึ้นกับร่างกายของแต่ละคน
จากนั้นร่างกายจะนำเอาคาร์โบไฮเดรต ดึงมาใช้เป็นพลังงานต่อได้อีก 2-3 วัน จึงทำให้สามารถอยู่ได้ประมาณ 5-6 วันขึ้นกับสภาพของร่างกาย โดยหากช่วยเหลือเด็กๆออกมาแล้ว ร่างกายเขาจะขาดอาหาร สิ่งแรกที่ต้องทำส่งเด็กเข้าโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว ต้องให้น้ำเกลือ ให้อาหารทางสายยาง เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัว
แพทย์สนามรอปากถ้ำพร้อมรักษา 13 ชีวิต
ด้าน นพ.ทศเทพ บุญทอง นายแพทย์สาธารณสุข จ.เชียงราย ระบุว่า เข้าใจว่าตลอด 4 วัน เด็กคงไม่มีอาหารรับประทานเลย แต่มีน้ำที่สามารถหาดื่มได้ แต่ก็จะทำให้ร่างกายอิดโรย แต่ความเชื่อตามทฤษฎี คือ ถ้ามีน้ำดื่มอยู่ 4 วัน ก็ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ แต่ยิ่งเวลาผ่านไป สภาพร่างกายของผู็สูญหายจะยิ่งอ่อนแอลงเรื่อย ๆ
สิ่งที่น่ากังวล คือ สภาพอากาศด้านใน แต่ขณะนี้จากร่องรอยที่หน่วยค้นหาได้แจ้งออกมา พบว่าเด็กน่าจะมีชีวิตอยู่ จึงทำให้คาดได้ว่าภายในมีสภาพอากาศที่ไหลเวียนในระดับหนึ่ง แต่อาจเสี่ยงเกิดความผิดปกติทางเดินหายใจ เนื่องจากร่างกายผู้สูญหายเปียกน้ำ สภาพอากาศอับชื้น ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดอาการปอดอักเสบ ปอดบวม
ขณะนี้สาธารณสุขได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามขนาด 10 เตียง มีทีมแพทย์และเครื่องมือช่วยชีวิต ยาและเวชภัณฑ์พื้นฐานที่จำเป็น เพื่อเตรียมความพร้อมรอรับผู้สูญหายทั้ง 13 คน บริเวณหน้าถ้ำ โดยจะมีแพทย์พร้อมเข้าตรวจร่างกายผู้สูญหายทันทีที่ออกมาบริเวณปากถ้ำ เพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น เช่น การใส่สายน้ำเกลือ ให้ออกซิเจน หรือการปั๊มหัวใจช่วยชีวิต หากเด็กมีอาการหนักจะทำการส่งโรงพยาบาลแม่สายต่อทันที
ทั้งนี้ สำหรับสภาพจิตใจของครอบครัวและญาติผู้สูญหาย สาธารณสุขได้จัดตั้งทีมให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยา เพื่อพูดคุยและปลอบใจกับญาติ ผู้ปกครองของผู้สูญหาย
พร้อมจัดทีมแพทย์เพื่อดูแลรักษาเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมภารกิจค้นหาผู้สูญหายด้วยเช่นกัน