ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"เคลียร์ 12 ทุ่ง" 1 ล้านไร่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างรับน้ำหลาก

สิ่งแวดล้อม
15 มิ.ย. 61
15:35
1,278
Logo Thai PBS
"เคลียร์ 12 ทุ่ง" 1  ล้านไร่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างรับน้ำหลาก
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งรัดโครงการด้านการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา พร้อมวางแผนใช้พื้นที่ลุ่มต่ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 12 ทุ่ง พื้นที่กว่า 1 ล้านไร่ เตรียมรองรับน้ำเหนือช่วงน้ำหลากปีนี้

วันนี้ (15 มิ.ย.2561) นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมการรับน้ำเข้าทุ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา และคลองระบายน้ำสุพรรณ 4 (คลองลาดชะโด) หน้าวัดดอนลาน ต.ดอนลาน อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ และวางแผนใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างรับน้ำเหนือ 

นายสมเกียรติ กล่าวว่า โดยจะเร่งรัดโครงการต่างๆให้แล้วเสร็จตามแผน ทั้งการจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำ กำจัดสิ่งกีด ขวางทางระบายน้ำ ซ่อมแซมอาคารควบคุมน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม การแก้ปัญหาและผลกระทบจากรับน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำให้ทันก่อนการรับน้ำหลาก และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ให้ประชาชนด้วย

พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจและฐานการผลิตของประเทศ โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนปี 2560 รัฐบาลได้นำร่องปรับปฏิทินการปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง ประมาณ 1.15 ล้านไร่

โดยครอบคลุมบริเวณทุ่งเชียงราก จ.สิงห์บุรี ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งป่าโมก จ.อ่างทอง ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบรรลือ ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งบางบาล จ.พระนคร ศรีอยุธยา และทุ่งรังสิตใต้ ให้เร็วกว่าปกติ เพื่อหลีกเลี่ยงผล ผลิตได้รับความเสียหายจากฤดูน้ำหลาก และให้เป็นพื้นที่รับน้ำหรือเป็นแก้มลิงธรรมชาติ เพื่อหน่วงน้ำได้ประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตรช่วงปลายฤดูฝน

 

 

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า ภาพรวมความสำเร็จน่าพอใจ แต่ยังประสบปัญหาบางพื้นที่มีน้ำท่วมบ้านเรือนชาวบ้านถนนที่ใช้สัญจร การนำน้ำเข้าทุ่ง และระบายออกจากทุ่งไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ทำให้ต้องเร่งวางแผนเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ และแก้ปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีกครั้งในฤดูน้ำหลากปีนี้

 


ทั้งนี้ สทนช. ได้การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 12 ทุ่ง ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการประตูระบายน้ำปากคลองบางบาล พร้อมสร้างบันไดปลา จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อใช้บริหารจัดการน้ำหลากและเก็บกักน้ำไว้ใช้ช่วงหน้าแล้ง บรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจนถึงอ่าวไทย และเพิ่มศักยภาพการใช้น้ำเพื่อเกษตรกรรม 229,138 ไร่

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง