ไทยพีบีเอสออนไลน์ รวบรวมปัญหาขยะ หนึ่งในสาเหตุการตายของสัตว์หลากหลายชนิดทั้งทางทะเลและทางบก วิกฤติปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ โดยเฉพาะสัตว์ทางทะเล จะพบเห็นได้บ่อยครั้งในช่วง3-5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในประเทศไทย เหตุการณ์ล่าสุดที่วาฬนำร่องครีบสั้นตายลงเมื่อ 2 มิ.ย.นี้
เหตุการณ์แรก เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2561 วาฬนำร่องครีบสั้น ความยาว 4.5 เมตร เข้ามาเกยตื้นบริเวณคลองนาทับ หมู่ 2 ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา และชาวบ้านได้ช่วยเหลือไว้ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค.ที่่ผ่านมา โดยหลังจากทีมสัตวแพทย์จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ช่วยชีวิต แต่ที่สุดเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา วาฬนำร่องครีบสั้นได้ตายลง และหลังจากผ่าชันสูตรพบว่ามีถุงพลาสติกในกระเพาะอาหารมากถึง 85 ชิ้น น้ำหนัก 8 กิโลกรัม
วันที่ 3 พ.ค.2561 วัวอย่างน้อย 4 ตัวในรัฐอันตรประเทศ ทางใต้ของอินเดีย ซึ่งตายจากการกินขยะพลาสติกเข้าไปสะสมในท้องประมาณ 80 กิโลกรัม หลังเจ้าของปล่อยให้หากินหญ้าอย่างอิสระ และในระหว่างนั้นได้กินขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งไว้ริมทางเข้าไปด้วย
เว็บไซต์เดลิเมล ของอังกฤษ นำเสนอสารคดีที่ทำขึ้นเพื่อชี้ให้เห็นถึงขยะทะเลที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล สิงโตทะเล และแมวน้ำ ได้รับบาดเจ็บจากขยะเหล่านั้น บางตัวก็เสียชีวิต
โดยมีทั้งขยะถุงลมที่พันธนาการพันบนตัวของสิงโตทะเล และทำให้มันไม่สามารถว่ายน้ำได้ และจมน้ำตายในที่สุด โดยบางตัวก็มีเบ็ดตกปลาห้อยอยู่
นกอัลบาทรอส ที่ตายจากกินขยะจำนวนมาก โดย chris-jorda นำเสนอเรื่องราวที่น่าสลดใจนี้ โดยระบุว่า แพขยะใหญ่แห่งมหาสมุทรแปซิฟิก มีขนาดใหญ่กว่ารัฐเทกซัส ของสหรัฐอเมริกาถึง 2 เท่า ขยะพวกนี้มาจากขยะบนบก แม่น้ำลำคลอง และท่อระบายน้ำ ราว 80%และ จากเรือ และการท่องเที่ยวทางทะเลอีก 20% โดยขยะเหล่านี้เกือบทั้งหมดคือ พลาสติก วัสดุสังเคราะห์จากน้ำมือพวกเรา ที่แทบจะไม่ย่อยสลายเลย โดยสัตว์ชนิดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากขยะพวกนี้คือ นกอัลบาทรอส โดยเฉพาะ Black Footed Albatross และ Laysan Albatross ที่ทำรังอยู่ในเกาะบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ที่ตอนนี้อยู่สถานะความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์
วันที่ 10 ธ.ค.2560 เต่าตนุ ตัวเมีย โตเต็มวัย ความกว้างกระดอง 76 เซนติเมตร ความยาวกระดอง 94 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 70 กิโลกรัม ตายเกยตื้นบริเวณโครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างตามพระราชดำริ ต.บางแก้ว อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี จากการผ่าชันสูตร พบขยะทะเลประเภทถุงพลาสติกและเศษเชือกในระบบทางเดินอาหาร
วันที่ 8 มิ.ย.2560 เต่าตนุ ตัวเมีย วัยเจริญพันธุ์ ความกว้างกระดอง 93 เซนติเมตร ความยาวกระดอง 91 เซนติเมตร ตายเกยตื้นริมชายหาด จ.ระยอง ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชาย ฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ทช.ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายากเข้าตรวจสอบ จากการผ่าชันสูตรพบว่ามีเศษวัชพืชจำนวนมาก และขยะทะเลประเภทเชือกในระบบทางเดินอาหาร
วันที่ 21 พ.ย.2560 สำนักข่าวต่างประเทศเผยแพร่คลิปวิดีโอเรื่องราวของแม่วาฬที่ไม่ยอมทิ้งซากลูกแรกเกิดที่ตายไปแล้ว สร้างความสะเทือนใจให้กับคนที่ได้ชมคลิป โดยสันนิษฐานว่าลูกวาฬน่าจะตายจากการกินนมแม่ที่มีสารปนเปื้อน ซึ่งเป็นผลจากแม่วาฬกินขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งเข้าไป
วันที่ 1 มี.ค.2560 ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการทางทะเล ระบุถึงเหตุการณ์ที่เต่าตนุ ตัวเมีย น้ำหนัก 100 กิโลกรัม ตาย และผลการชันสูตรพบเศษขยะอัดแน่นเต็มกระเพาะ ซึ่ง ผศ.ธรณ์ ระบุด้วยว่า เต่าตนุไม่ฉลาดพอที่จะแยกเศษเชือกกับสาหร่ายออกจากกัน
สำหรับเหตุการณ์สุดท้าย เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2557 กวางป่าในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตายจากสาเหตุในท้องมีถุงพลาสติกที่เป็นขยะอัดแน่นจนท้องแตกตาย หลังจากไปกินขยะพลาสติกที่ประชาชนทิ้งลงไปใต้ผาเดียวดาย ซึ่งเฟซบุ๊กของ หมู สาริกา และชมรมฅนรักสัตว์-ป่า ได้นำเสนอเรื่องราว พร้อมเรียกร้องให้ประชาชนหยุดทิ้งขยะและให้อาหารสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
20 กระทรวง Kick Off ลดใช้ถุงพลาสติก-โฟม