วันนี้ (18 พ.ค.2561)นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย-30 ก.ย.นี้ กรมอุทยานฯจะปิดอ่าวมาหยา อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ห้ามทำกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยเด็ดขาด แต่อนุญาตให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวนำเรือเข้ามาลอยลำ บริเวณทุ่นไข่ปลาที่กั้นแนวเขตไว้ได้ โดยเป้าหมายหลักเพื่อฟื้นฟูปะการัง ทรัพยากร เนื่องจากช่วงฤดูท่องเที่ยว พบมีนักท่องเที่ยวล้นเกาะสูงถึงวันละ 3,000-4,00 คนต่อวัน ถ้าไม่ทำการฟื้นฟู ในอนาคตพจะเป็นการทำลายภาพพจน์การท่องเที่ยวอุทยานแห่งนี้
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijM6GwNFtcEpbe3rQQ8d8gBoLWWYcv.png)
ถ้านักท่องเที่ยวมามาเจอนักท่องเที่ยวเต็มหาดหน้าอ่าวมาหยา ที่มีพื้นที่ราบเพียง 18 ไร่ และชายหาดไม่เกิน 3 ไร่ ถ้าคนมาละ 3,000-4,00 คนต่อวัน ต่อไปคงรับไม่ได้
ดังนั้นหลังจากปิดเกาะในช่วงเวลานั้นจะเริ่มสร้างท่าเทียบเรือใหม่ที่อ่าวโล๊ะซามะ ซึ่งอยู่ด้านหลัง เพื่อเป็นจุดรับส่งนักท่องเที่ยวแทนจุดเดิม และปิดไม่ให้ไม่ให้เรือวิ่งเข้าออกบริเวณอ่าวมาหยาอย่างเด็ดขาด ซึ่งโครงสร้างท่าเทียบเรือนี้จะไม่ใช้การตอกเสาเข็มแต่ใช้เทคโนโลยีแบบลอยน้ำได้ ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และส่งผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijM6GwNFtcEpbe3rQOvgNXyG1dRWDx.jpg)
นายจงคล้าย บอกอีกว่า กรมอุทยานฯจะดำเนินการจัดทำแปลงอนุบาลปะการัง เพื่อเตรียมกิ่งพันธุ์สำหรับปลูกขยายปะการัง ภายหลังปิดไม่ให้เรือเข้าออกบริเวณอ่าวมาหยาอย่างถาวร ขณะเดียวกัน ก็จะฟื้นฟูทรัพยากรบนบกด้วยการปลูกพันธุ์ไม้ชายหาด เช่น เตยทะเล คันทรง เพื่อช่วยยึดหน้าดิน ป้องกันการพังทลายของเนินทรายหน้าชายหาด
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijM6GwNFtcEpbe3rQUbQBu9mkUahFN.png)
ด้านนายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ คกก.ปฏิรูปประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า อ่าวมาหยามีนักท่องเที่ยว 3,800 คนต่อวันโดยเฉลี่ย และมีเพิ่มเรื่อยๆ ทำให้ปัญหาเกิดขึ้นจากเรือที่วิ่งเข้าออก ทำลายปะการัง ทำให้มีความเห็นที่จะไม่ให้เรือเข้าออกหน้าอ่าวมาหยา ควรจะหยุดฟื้นฟูปะการังในอ่าวมาหยา 4 เดือน
เราไมได้ปิดเกาะพีพี แต่หยุดพักฟื้นฟูชั่วคราวอ่าวมาหยาเพียง 4 เดือน และ ยังมีอ่าวท่องเที่ยวอื่นๆรองรับ เช่น อ่าวนุ้ย เกาะไผ่ที่สวยงาม เป็นการกระจายนักท่องเที่ยวได้ และตรงนี้จุดเริ่มต้นของอนุรักษ์ทะเล ที่เกิดจากชาวบ้านผู้ประกอบการ คนพีพี คนกระบี่และกรมอุทยาน มาช่วย เป็นภาพที่ชัดเจนเป็นจุดพลิกผันที่คนท้องถิ่นลุกขึ้นมาบอกว่าจะดูแลทะเล