ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับตาประชุมสุดยอด 2 ผู้นำเกาหลี หวังยกระดับความสัมพันธ์ประเทศ

ต่างประเทศ
26 เม.ย. 61
20:31
1,114
Logo Thai PBS
จับตาประชุมสุดยอด 2 ผู้นำเกาหลี หวังยกระดับความสัมพันธ์ประเทศ
สิ่งที่น่าจับตามองในการประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 3 วันพรุ่งนี้ (27 เม.ย.) คือวาระการเจรจาจาก 2 ฝ่าย แม้ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดชัดเจน แต่คาดว่าครอบคลุมเรื่องความสัมพันธ์สองประเทศ การสร้างสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี การปลดอาวุธนิวเคลียร์

นับถอยหลังอีกไม่ถึง 24 ชั่วโมง การประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ จะเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการในเวลา 09.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเร็วกว่าเวลาในประเทศไทย 2 ชั่วโมง ภายในพื้นที่รักษาความปลอดภัยร่วมบริเวณเขตปลอดทหาร ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุมครั้งแรกที่นายคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ จะเดินทางเข้ามาในเขตของเกาหลีใต้ในกลุ่มอาคารสีฟ้า ผ่าน Freedom House และ Peace House ซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่รักษาความปลอดภัยร่วม หรือ JSA

 

คำถามคือการประชุมในพื้นที่บริเวณนี้มีนัยสำคัญอย่างไร? พื้นที่เขตปลอดทหาร ถือเป็นเขตชายแดนพิเศษระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ ห่างจากกรุงโซล ประมาณ 50 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่าง 2 เกาหลี เนื่องจากเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ทั้ง 2 ประเทศ ใช้เป็นสถานที่ในการเจรจาต่อรอง รวมทั้งการลงนามในข้อตกลงหยุดยิงในสงครามเกาหลี เมื่อปี 1953

ส่วนประเด็นที่คาดว่าจะมีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในการประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลี ครั้งที่ 3 มีทั้งการยกระดับความสัมพันธ์ การสร้างสันติภาพและการปลดอาวุธนิวเคลียร์

 

ประธานาธิบดีมูน แจอิน ผู้นำเกาหลีใต้ มีเป้าหมายชัดเจนคือ การบรรลุข้อตกลงสันติภาพระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ เพื่อยุติภาวะประเทศคู่สงครามในทางเทคนิค ขณะที่กระทรวงรวมชาติเกาหลีใต้ บรรจุเรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์และการยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นเป้าหมายหลักของเกาหลีใต้ในการประชุมครั้งนี้ด้วย

การประชุมในครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสที่ผู้นำเกาหลีใต้จะได้แสดงบทบาทนักเจรจา และนำเอาประสบการณ์จากอดีตที่เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะทำงานในการเจรจากับเกาหลีเหนือ ในสมัยอดีตประธานาธิบดีโนห์ มูฮุน มาปรับใช้ได้อย่างเต็มที่ ส่วนเป้าหมายของเกาหลีเหนือยังไม่ชัดเจน แต่มีความเป็นไปได้สูงที่เกาหลีเหนืออาจใช้โอกาสในการหันมาจับมือกับเกาหลีใต้ ทำให้สหรัฐฯ พอใจและนำไปสู่การคลายมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจเกาหลีเหนือในอนาคต

เรียกได้ว่าการประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ในครั้งนี้ เป็นสัญญาณเชิงบวกในการสร้างสันติภาพบนโต๊ะเจรจาระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ แต่หากพูดถึงการรวมชาติเกาหลีให้เป็นหนึ่งเดียวกันให้ได้นั้น ยังไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายนัก

 

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า หลังปี 2000-2018 มีทหารเกาหลีเหนือแปรพักตร์ไปยังเกาหลีได้เพียง 9 คน และทุกคนระบุว่าเป็นการตัดสินใจผิดที่ย้ายมาเกาหลีใต้ เนื่องจากว่าไม่สามารถปรับตัวต่อการใช้ชีวิตในเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของเกาหลีใต้ได้ เพราะการที่ถูกหล่อหลอมด้วยระบบสวัสดิการของรัฐ ซึ่งหาความสะดวกสบายไม่ได้ในเกาหลีใต้ จึงต้องหาวิธีเอาตัวรอดด้วยตัวเอง ทำให้ทหารที่แปรพักตร์ใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก

นี่จึงเป็นสิ่งที่หลายคนกังวลว่าคนที่แปรพักตร์ที่อยู่ในวัยกลางคนขึ้นไปและไปอยู่เกาหลีใต้ ไม่สามารถปรับตัวได้ ส่วนคนที่ปรับตัวได้คือคนวัยหนุ่มสาว ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จะนำไปสู่การพูดคุยการรวมชาติจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่สิ่งที่ง่ายที่สุดคือการทำให้เกาหลีเหนือปรับตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป

ท้ายที่สุดต้องติดตามว่าการประชุมสุดยอดในวันพรุ่งนี้ (27 เม.ย.2561) จะนำพาคาบสมุทรเกาหลีไปสู่ความสงบสุขได้หรือไม่ หลังจากการประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลี 2 ครั้งแรกไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง