ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดใจ 3 อาชีพ กับภารกิจไม่มีวันหยุด (เทศกาล)

12 เม.ย. 61
17:32
4,625
Logo Thai PBS
เปิดใจ 3 อาชีพ กับภารกิจไม่มีวันหยุด (เทศกาล)
เทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีวันหยุดยาวติดต่อกัน คนไทยที่ทำงานในกรุงเทพฯและที่อื่นๆ ส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อใช้เวลากับครอบครัวในจังหวัดบ้านเกิด แต่ยังมีคนอีกกลุ่มที่ต้องทำงานในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในช่วงเทศกาล


“ผมไม่ใช่เป็นฮีโร่” ขอเพียงทำหน้าที่แพทย์ให้ดีที่สุด

ผศ.นพ.กัมพล อำนวยพัฒนพล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ตลอดการเป็นแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินในช่วง 10 กว่าปี ในช่วงเทศกาลมักที่จะไม่ได้หยุดเหมือนปกติทั่วไป ซึ่งตนเองและทีมแพทย์จะใช้วิธีการสลับเวร และจัดสรรตารางการทำงานในการรับผิดชอบเวรห้องฉุกเฉินทั้ง 3 กะ หรือเช้า บ่ายและดึกให้เพียงพอต่อการให้บริการผู้ป่วย โดยมีแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่เพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วยที่จะเข้ามาในทุกช่วงเวลา

  

ผศ.นพ.กัมพล อำนวยพัฒนพล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผศ.นพ.กัมพล อำนวยพัฒนพล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผศ.นพ.กัมพล อำนวยพัฒนพล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

งานของแพทย์ฉุกเฉินโดยปกติคนทั่วไปมักจะคิดว่าจะเป็นการรักษาหรือดูแลการบาดเจ็บเร่งด่วนหรืออุบัติเหตุต่างๆ เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงการรักษาอาการฉุกเฉินจากโรคทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ราวร้อยละ 70 ขณะที่อุบัติเหตุจะมีราวร้อยละ 30 ซึ่งกรณีอุบัติเหตุจะมีมากในช่วงเทศกาลสำคัญ

แพทย์ฉุกเฉิน ต้องประเมินและวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยโดยเร็วที่สุดเพื่อช่วยผู้ป่วยให้พ้นจากภาวะวิกฤตวิกฤต ซึ่งต้องใช้ความเชี่ยวชาญ การประเมินอาการที่แม่นยำ บางครั้งผู้ป่วยหมดสติไม่สามารถบอกอาการได้ หลายครั้งต้องแข่งกับเวลา เช่น กรณีผู้ป่วยเสียเลือดมาก หัวใจหยุดเต้น บางรายอาจได้รับแจ้งว่าเป็นลม แต่แท้ที่จริงคือหัวใจวายซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตซึ่งแพทย์ต้องช่วยให้ผู้ป่วยพ้นจากอันตรายเป็นอันดับแรก

ผศ.นพ.กัมพล กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีพื้นที่การรับผิดชอบรัศมี 10 กม.จากโรงพยาบาล และดูแลประชาชนในพื้นที่โดยรอบซึ่งมีผู้ป่วยทั่วไปโรงพยาบาลอุตสาหกรรมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และมีความพร้อมจึงสามารถรับมือกับกรณีต่างๆ ได้เป็นอย่างดีเนื่องจากมีความพร้อมทั้งบุคลากรทางการแพทย์หรือเครื่องมือ แต่หากเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก ที่มีแพทย์ พยาบาล ที่น้อยกว่าการปฏิบัติหน้าที่ก็จะมีความยากมากยิ่งขึ้น

ผมไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นฮีโร่ แต่ทำหน้าที่แพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุด เราทำหน้าที่ของเราไม่คิดว่าเป็นฮีโร่


20 ปีตำรวจของในหลวง ร.9 ทุกเทศกาลคือวันทำงาน

 

ร.ต.อ.พิเชษฐ วิเศษโชค รองสารวัตรงานปฏิบัติการจราจรตามโครงการพระราชดำริ 1 กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจจราจร ระบุว่า ในช่วงเทศกาลจะต้องนำทีมตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริมาดูแลความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อฉลองเทศกาลสงกรานต์ที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 โดยจัดเวรผลัดเช้า 25 นาย ตั้งแต่เวลา 05.30 - 14.00น. ส่วนเวรบ่ายอีก 25 นายตั้งแต่ช่วง 14.00 - 24.00 น.

 

ร.ต.อ.พิเชษฐ วิเศษโชค รองสารวัตรงานปฏิบัติการจราจรตามโครงการพระราชดำริ 1 กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจจราจร

ร.ต.อ.พิเชษฐ วิเศษโชค รองสารวัตรงานปฏิบัติการจราจรตามโครงการพระราชดำริ 1 กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจจราจร

ร.ต.อ.พิเชษฐ วิเศษโชค รองสารวัตรงานปฏิบัติการจราจรตามโครงการพระราชดำริ 1 กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจจราจร

 

ร.ต.อ.พิเชษฐ์ เล่าว่า ทุกเทศกาลไม่ว่าจะวันขึ้นปีใหม่ สงกรานต์ ตำรวจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ยินดีบำบัดทุกข์ บำรุงสุข พร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับอย่างเต็มความสามารถด้วยหัวใจ และด้วยความเต็มใจ เพื่อให้ประชาชนเดินไปกลับบ้านที่ต่างจังหวัด กลับไปเยี่ยมญาติ ฉลองปีใหม่อย่างปลอดภัยและมีความสุข ซึ่งหน้าที่ของตำรวจจราจรฯ ทั้งที่สถานีขนส่งต่างๆ ถนนสายหลัก นอกจากนี้ยังมีสายการแพทย์นำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล และมีตำรวจช่างคอยช่วยเหลือรถเสียบนท้องถนนด้วย

 

 

ร.ต.อ.พิเซษฐ์ กล่าวว่า ปฏิบัติหน้าที่มาตั้งแต่ปี 2541 สมัยที่ยังเป็นพลตำรวจ และไม่ว่าจะเทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่วันหยุดยาวก็จะตระเวนทำหน้าที่ตามสถานีขนส่งทั้งรับและส่งคนไปกลับบ้านฉลองเทศกาลอย่างปลอดภัย

ยอมรับว่าเหนื่อย แต่เห็นรอยยิ้มของคนที่จะเดินทางกลับบ้านแล้วรู้สึกสุขใจที่ส่งพวกเขาถึงบ้านอย่างปลอดภัย ถามว่าเหนื่อยมั้ย ทำงานเหนื่อย เหนื่อยกายกลับไปพักผ่อนก็หาย แต่เป็นหน้าที่ที่เดินทางมาสายนี้เราเป็นตำรวจต้องรับใช้บริการประชาชนเหมือนกับญาติของเราทุกภาระหน้าที่ ทุกการทำหน้าที่ต้องคำนึงถึงการทำให้ประชาชนมีความสุข

ต้องพร้อม 24 ชม.เพื่อเข้าช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด

 

นายวิทยา โพธิ์หลวง หัวหน้าหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (EMS) กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยปกติจะมีเหตุฉุกเฉินให้ออกไปปฏิบัติหน้าที่เฉลี่ยเดือนละ 60 เหตุเนื่องจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯเป็นศูนย์ใหญ่รับผิดชอบพื้นที่รัศมี 10 กม.รอบโรงพยาบาล ซึ่งในช่วงเทศกาลก็จะมีอุบัติเหตุเพิ่มเติมจากเหตุฉุกเฉินอื่นๆ ซึ่งทีม EMS ซึ่งเป็นทีมกู้ชีพขั้นสูงจะดูแลในเหตุที่ค่อนข้างหนักเช่น คนไข้หมดสติ หัวใจหยุดเต้น ก็ต้องเข้าไปช่วยให้ฟื้นคืนชีพในจุดเกิดเหตุเหมือนกับห้องฉุกเฉินเคลื่อนที่ได้ เพราะหากไปถึงช้าเกินไปอาจไม่ทันการ

ความกดดันในการทำงานอยู่ที่การเดินทางที่ล่าช้าจากรถติด หรือ สภาพของพื้นที่ ซึ่งญาติของผู้ป่วยที่มีความเป็นห่วงก็จะเกิดคำถามว่าทำไมรถกู้ชีพจึงเดินทางมาถึงช้า ซึ่งโดยหลักปฏิบัติของ สพฉ.เมื่อได้รับแจ้งเหตุจะออกรถได้ภายใน 2 นาที ซึ่งเราทำได้ตามมาตรฐาน แต่สภาพการจราจรหรืออื่นๆ เป็นปัจจัยที่ควบคุมยาก ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเคลียร์เส้นทาง หรือ เปิดไฟกระพริบ เปิดไซเรน ขอทาง จุดนี้ต้องขอความร่วมมือและความเข้าใจจากสังคมด้วย

ขณะที่การเข้าช่วยเหลือที่ค่อนข้างยากคือ การต้องใช้ความช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยังติดอยู่ในซากรถที่ต้องให้เจ้าหน้าที่จากส่วนงานอื่นช่วยเช่นใช้เครืองตัดถ่างเพื่อนำผู้้ป่วยออกมา หรือในบางกรณีเจอกับผู้ป่วยจิตเวชก็ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจระงับเหตุก่อน ทีมกู้ชีพจึงจะเข้านำตัวผู้ป่วยกลับมายังโรงพยาบาลได้ ซึ่งนอกเหนือจากการดูแลสุขภาพหรือชีวิตผู้ป่วย จุดสำคัญก่อนเข้าช่วยเหลือคือการรับผิดชอบความปลอดภัยของทีมงานด้วย

 

นายวิทยา โพธิ์หลวง หัวหน้าหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (EMS)

นายวิทยา โพธิ์หลวง หัวหน้าหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (EMS)

นายวิทยา โพธิ์หลวง หัวหน้าหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (EMS)

 

นอกจากนี้ กรณีอุบัติเหตุหมู่ก็จะค่อนข้างยากลำบาก กรณีที่เคยเจอเช่น เหตุตึกถล่มที่ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ซึ่งเหตุตึกถล่มลงมาหลายชั้นเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลใกล้เคียงต้องสลับหมุนเวียนกันตลอด 24 ชม.เพราะระหว่างการค้นหาผู้ประสบเหตุ ต้องมีความเตรียมพร้อมที่จะนำผู้บาดเจ็บออกมาส่งโรงพยาบาลจนกว่าจะเสร็จสิ้น และส่วนหนึ่งต้องเตรียมพร้อมเพื่อไปดูแลผู้ป่วยในเหตุอื่นๆ ด้วย

ในเทศกาลเราก็อยากเจอครอบครัวเหมือนกันแต่เราทำงานในลักษณะที่ต้องดูแลประชาชน ก็ต้องเลือก ก็พยายามจัดเวรกันคน พยายามให้ทุกคนมีความสุขกับงานแต่ก็ไม่ละทิ้งครอบครัว

นายวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกครั้งที่ครอบครัวเห็นข่าวว่ามีเหตุรถพยาบาลคว่ำ ก็จะโทรศัพท์มาบอกให้เพิ่มความระมัดระวังเพราะว่างานเรามีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุต้องออกพื้นที่ไปรับผู้ป่วย และรถพยาบาลต้องใช้ความเร็ว และบางครั้งก็อาจงดเว้นการไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรเช่น วิ่งย้อนศร หรือ ฝ่าไฟแดง เพื่อเข้าถึงพื้นที่ให้เร็วที่สุด ซึ่งตามกฎหมายยกเว้นให้รถพยาบาลรถกู้ชีพสามารถทำได้ตามความเหมาะสม ซึ่งทีมกู้ภัยหรือทีมกู้ชีพต่างๆเหล่านี้ก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุดแต่ก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของทีมงานอย่างมากด้วยเช่นกัน

 

 

ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่บุคลากรที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลก็ขอให้ประชาชนมีความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ความร่วมมือ และรับผิดชอบต่อตัวเองมีความสุข สนุกสนานบนพื้นฐานของความรับผิดชอบก็จะช่วยให้ทุกฝ่ายมีความสุขร่วมกันไม่ว่าจะเทศกาลใดๆ

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

รู้ไหม “สงกรานต์ไทย” มีมาแต่เมื่อใด

ทำไมไทยเล่นน้ำ "สงกรานต์" จากกลางวันสู่กลางคืน?

สทท.คาดสงกรานต์เงินสะพัด 2 หมื่นล้าน กระแสฮิตแต่งกายชุดไทยดันท่องเที่ยวบูม

ผลิตไม่ทัน! ยอดสั่ง “โจงกระเบน” ใส่สงกรานต์พุ่ง

น่าสนใจทั้ง 10 ที่ แล้วจะเที่ยวสงกรานต์ที่ไหนดี?

รู้ไว้ไม่ผิด 6 ข้อ ก่อนเที่ยวสงกรานต์

ทช.แนะนำ 8 เส้นทางเลี่ยงรถติดช่วงสงกรานต์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง