ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทุบกระจกลิฟต์ " บีทีเอส" ประท้วงถูกล็อก รอนสิทธิคนพิการ

สังคม
13 มี.ค. 61
11:54
2,446
Logo Thai PBS
ทุบกระจกลิฟต์ " บีทีเอส" ประท้วงถูกล็อก รอนสิทธิคนพิการ
นักรณรงค์เพื่อสิทธิคนพิการ ทุบลิฟต์บีทีเอส สถานีอโศก ฉุนถูกเลือกปฏิบัติ-ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ในการให้เซ็นชื่อใช้บริการลิฟต์ ทั้งๆที่ควรติดตั้งไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนพิการ

วานนี้ (12 มี.ค.2561) นายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิคนพิการ และประธานภาคีเครือข่ายมหานครเพื่อทุกคน เปิดเผยว่า ได้ก่อเหตุทุบกระจกลิฟต์ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอโศก จนแตกร้าว โดยยอมรับว่า ผิดที่ทำลายทรัพย์สินของทางสถานี แต่การใช้บริการลิฟต์โดยสารที่สถานีดังกล่าวเจ้าหน้าที่จะขอดูบัตรประจำตัวผู้พิการ และให้เซ็นต์ชื่อ กรอกข้อมูลส่วนตัว ซึ่งมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ทำให้เสียเวลา และเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลทั้งๆที่ควรติดตั้งไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนพิการ

นายมานิตย์ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ถ้าเป็นคนทั่วไป หากเดินทางเข้าสถานีบีทีเอส ขอให้เซ็นชื่อและขอดูบัตร เราเป็นประชาชน และคนพิการก็เป็นคนที่มีสิทธิเท่าเที่ยมกัน ถ้าจะขอดูโน่นดูนี่  สถานีบีทีเอสหลายสถานีก็ไม่ได้ให้เซ็นชื่อแบบนี้ ยกเว้นที่สถานีอโศก 

ด้านนายธนูชัย หุ่นนิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง หรือ สจส. กทม. กล่าวว่าลิฟต์ที่สถานีอโศก มีการสร้างตั้งแต่บริเวณทางเท้าขึ้นไปจนถึงชั้นชานชาลา ให้บริการเฉพาะผู้พิการที่ถูกยก เว้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่เวลาจะใช้ลิฟต์จะต้องกดปุ่มเรียกเจ้าหน้าที่เพื่อมาอำนวยความสะดวก

กรณีของนายมานิตย์ เกิดเหตุบริเวณชั้นทางเชื่อมระหว่างศูนย์การค้ากับสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำแม่กุญแจมาล็อกทางเข้าลิฟต์ไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนทั่วไปมาใช้บริการโดยไม่ซื้อตั๋วโดยสาร เพราะลิฟท์ดังกล่าวสามารถขึ้นไปถึงบริเวณชานชาลาโดยไม่ต้องผ่านช่องจำหน่ายตั๋ว

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยอมรับว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทางเจ้าหน้าที่ดูแลไม่ทั่วถึง โดยหลังจากนี้ กทม.จะหารือร่วมกับบีทีเอส เพื่อวางมาตรการที่จะอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการและผู้ใช้วีลแชร์

ผู้อำนวยการสจส. กทม. ระบุด้วยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างของบประมาณ 262 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างลิฟท์สำหรับผู้พิการ และผู้สูงอายุ ในสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสเพิ่มเติมให้ครบ 2 ฝั่ง ใน 17 สถานี

สำหรับการเรียกร้องให้จัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส
กลุ่มเครือข่ายคนพิการ เคยรณรงค์เรียกร้องมาตั้งแต่ปี 2538 ก่อนจะมีการทำสัญญาก่อสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอสในปี 2539 

กระทั่งปี 2558 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษา สั่งให้กรุงเทพมหานคร จัดทำลิฟท์ขึ้นลงสำหรับผู้พิการ ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ทั้ง 23 สถานี รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกบนรถไฟฟ้า แต่จนถึงขณะนี้ ยังพบปัญหาคนพิการ ไม่สามารถใช้ลิฟท์โดยสารของบีทีเอสได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง