วันนี้(26 ก.พ.2561) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายที่สื่อมวลชนนำเสนอ ทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จนั้น ขอให้ประชาชนช่วยกันป้องกัน เนื่องจากเป็นเรื่องใกล้ตัว อาจเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยสังเกตความผิดปกติของผู้ใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้องรัง เช่น มะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
หากพบว่ามีการพูดในทำนองสั่งเสีย ไม่ต้องการมีชีวิตอยู่ ขอให้ใส่ใจ รับฟัง พูดคุย เป็นเพื่อน อย่าปล่อยทิ้งไว้ เพื่อให้ได้มีโอกาสระบายความรู้สึกออกมา แต่หากไม่ดีขึ้นขอให้พาไปพบจิตแพทย์ทันที รวมทั้งขอให้ทุกคนสังเกตตัวเองว่ามีความเครียดสะสมหรือไม่ เช่นวิตกกังวลมาก นอนไม่หลับ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวต่อว่า การฆ่าตัวตายมาจากหลายสาเหตุ ประมาณร้อยละ 50 ที่พบว่ามาจากโรคซึมเศร้า คาดว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน ได้มอบให้กรมสุขภาพจิต จัดทำโครงการค้นหาผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าในกลุ่มเสี่ยงเพื่อเพิ่มการเข้าถึงและลดความรุนแรงที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย โดยล่าสุดมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้าถึงบริการร้อยละ 55.40
ทั้งนี้ ในปี 2559 ประเทศไทยมีอัตราผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ 6.35 ต่อประชากรแสนคน ประมาณการณ์ว่ามีแนวโน้มลดลง ได้ใช้กลยุทธ์การป้องกันการทำร้ายตัวเองซ้ำ เพิ่มการเข้าถึงบริการ ซึ่งจะช่วยลดการฆ่าตัวตายลงได้เฉลี่ย 300 – 400 คนต่อปี ทั้งนี้ให้หาวิธีการผ่อนคลายความเครียด เช่น ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ พูดคุยกับคนใกล้ชิด หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 หรือ แอปพลิเคชันสบายใจ Sabaijai
อ่านข่าวเพิ่มเติม
“พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค” ตกจากชั้น 7 ในห้างย่านแจ้งวัฒนะ เสียชีวิต
ฆ่าตัวตายป้องกันได้! ชวนรู้บันได 8 ขั้น ช่วยยับยั้งอัตวินิบาตกรรม
"ความรัก-ซึมเศร้า" ทำคนไทยฆ่าตัวเพิ่ม ทุก 2 ชั่วโมง สำเร็จ 1 คน