ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ลุ้นปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำสูงสุด 2-15 บาท

สังคม
28 พ.ย. 60
13:07
603
Logo Thai PBS
ลุ้นปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำสูงสุด 2-15 บาท
ลุ้นปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำใหม่ คาดอาจปรับเพิ่มขึ้นอีก 2- 15 บาท แต่ยังต้องรอความชัดเจนในการตั้งคณะกรรมการค่าจ้าง หลังการเข้าปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีแรงงานคนใหม่

วันนี้ (28 พ.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อพิจารณาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ กรรมการฝ่ายลูกจ้าง คาดว่ากรอบการกำหนดค่าจ้างใหม่ อาจปรับเพิ่มขึ้นอีก 2 - 15 บาท แต่ยังต้องรอความชัดเจนในการตั้งคณะกรรมการค่าจ้าง หลังการเข้าปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีแรงงานคนใหม่ 

สำหรับการพิจารณาการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละครั้ง จะมีคณะกรรมการค่าจ้าง เป็นระบบไตรภาคี โดยมีผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐฝ่ายละ 5 คน มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆจากหลายหน่วยงาน

ปัจจุบันคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ เนื่องจากคณะกรรมการชุดที่ 20 ที่เสนอเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงนาม ยังไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากรัฐมนตรีลาออกไปก่อน

นายมานะ จุลรัตน์ กรรมการค่าจ้างสัดส่วนผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ในวันที่ 13 ธ.ค.นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตามที่อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดพิจารณาส่งเข้ามา

เบื้องต้น 76 จังหวัด พบว่ามีประมาณ 10 จังหวัด ที่อนุกรรมการฯไม่ได้เสนอขึ้นค่าจ้าง แต่เมื่อพิจารณาตามสูตรการคำนวณค่าจ้างแล้ว เห็นว่าน่าจะสามารถขึ้นได้ เบื้องต้น อัตราสูงสุดที่เสนอเข้ามามีตั้งแต่ 10-15 บาท ส่วนอัตราต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 2 บาท แต่ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้

 



ด้านนายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า เครือข่ายเห็นควรว่า ควรเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำไปที่อัตรา 712 บาท หรืออย่างน้อยก็ควรปรับให้ไม่น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. มองว่า การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทำได้ แต่หากจะให้ขึ้นไปถึงวันละ 712 บาท ภาคเอกชนคงรับไม่ได้ เพราะเป็นอัตราค่าจ้างที่สูงเกินไป จะส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนอย่างมากโดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจรายเล็ก หรือเอสเอ็มอี หรือธุรกิจที่ใช้แรงงานจำนวนมาก

สำหรับการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ ขณะนี้ยังไม่ได้พิจารณาอย่างเป็นทางการ เนื่องจากคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 20 ที่ได้เสนอเรื่องไปให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลงนาม ยังไม่ไดลงนาม เนื่องจากลาออกจากตำแหน่งไปก่อน ขณะนี้จึงต้องรอให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่มาพิจารณาอีกครั้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง