ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชวนชมปรากฎการณ์ "ฝนดาวตกลีโอนิดส์" 17-18 พ.ย.นี้

Logo Thai PBS
ชวนชมปรากฎการณ์ "ฝนดาวตกลีโอนิดส์" 17-18 พ.ย.นี้
สดร.ชวนชม "ฝนดาวตกลีโอนิดส์" หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต หลังเที่ยงคืนวันที่ 17 พ.ย.โดยจะเห็นได้ชัดสุดช่วงเวลาประมาณ 02.00 น.จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 18 พ.ย.2560

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เชิญชวนประชาชนชม "ฝนดาวตกลีโอนิดส์" หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต หลังเที่ยงคืนวันที่ 17 พ.ย.2560 โดยจะเห็นได้ชัดที่สุดในช่วงเวลาประมาณ 02.00 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 18 พ.ย.2560 ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณใกล้กลุ่มดาวสิงโต หากฟ้าใสปลอดเมฆ จะสามารถดูด้วยตาเปล่าได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการ สดร. ระบุว่า ในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ช่วงวันที่ 17-18 พ.ย. จะเกิดปรากฏการณ์ "ฝนดาวตกลีโอนิดส์" หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต โดยสังเกตได้ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 17 พ.ย.2560 ต่อเนื่องไปจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 18 พ.ย.2560 สำหรับในปีนี้ กลุ่มดาวสิงโตจะโผล่พ้นจากขอบฟ้าในเวลาประมาณ 01.00 น. ของวันที่ 18 พ.ย.2560 ดังนั้นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสังเกตปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์มากที่สุด คือเวลาประมาณ 02.00 น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณใกล้กลุ่มดาวสิงโต ซึ่งเป็นศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตก

ผอ.สดร.กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2560 ประเทศไทยจะมีโอกาสมองเห็นฝนดาวตกลีโอนิดส์ ประมาณ 10-15 ดวงต่อชั่วโมง แม้จะมีให้เห็นในปริมาณน้อย แต่ฝนดาวตกลีโอนิดส์ถือเป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างมากที่สุด เนื่องจากมีการเคลื่อนที่ผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศในอัตราเร็วถึง 71 กิโลเมตรต่อวินาที โดยได้รับขนานนามว่า "ราชาแห่งฝนดาวตก" ซึ่งช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการสังเกตฝนดาวตกคือ ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนไปจนถึงเวลาใกล้รุ่ง และควรชมฝนดาวตกในสถานที่ท้องฟ้ามืดสนิท ไม่มีแสงไฟรบกวน จะทำให้สังเกตเห็นดาวตกมีความสว่างมาก ส่วนวิธีการชมฝนดาวตก แนะนำว่าควรนอนชม เนื่องจากช่วงที่เกิดฝนดาวตกจุดศูนย์กลางจะอยู่เหนือท้องฟ้ากลางศีรษะพอดี

นอกจากนี้ กลางเดือนธันวาคมยังมี "ฝนดาวตกเจมินิดส์" หรือ ฝนดาวตกคนคู่ ให้ชมส่งท้ายปี 2560 ด้วย โดยสามารถสังเกตได้ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 14 ธ.ค.2560 ต่อเนื่องไปจนถึงเช้ามืดของวันที่ 15 ธ.ค.2560

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง