วันนี้(4 พ.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนโยบายส่งเสริมเกษตรกรให้เพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ ภายใน 3 ปีให้ได้ 1 ล้านไร่ ทำให้หลายภาคส่วน เป็นห่วงผลผลิตข้าวอินทรีย์ล้นตลาด
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า เนื่องจากขณะนี้เกษตรกรได้ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น หลังรัฐบาลอุดหนุนเงินให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์ปีแรกจำนวน 2,000 บาทต่อไร่ และทยอยปรับเป็น 3,000-4,000 บาทในปีที่ 2 และ 3 เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ขยายพื้นที่ปลูกให้ได้ 300,000 ไร่
รวมถึงขอความร่วมมือให้โรงสีซื้อข้าวเปลือกอินทรีย์สูงกว่าตลาดจึงเห็นว่า รัฐบาลไม่ควรใช้ราคาเป็นตัวตั้ง แต่ควรใช้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนดราคา และความต้องการบริโภคข้าวอินทรีย์ ให้สมดุลกับพื้นที่การเพาะปลูก เพราะหากผลผลิตมากเกินไปแต่ไม่มีตลาดรองรับจะทำให้ข้าวราคาตก
ผู้บริโภคข้าวอินทรีย์จะเป็นเฉพาะกลุ่ม และตลาดส่งออก มีเพียงไม่ถึงร้อยละ 1 ของการส่งออกข้าว เพราะมีข้อจำกัดเรื่องมาตรฐานที่เข้มงวด จึงเสนอว่ารัฐ ควรต้องหาตลาดรองรับควบคู่กันไป โดยเริ่มจากตลาดในประเทศก่อน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบริหารไม่ให้ผลผลิตล้นตลาดจะกระทบกับราคาข้าว
นายมั่น สามสี เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร กล่าวว่า การทำข้าวอินทรีย์ขายช่วยแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ เพราะขายได้ในราคาสูงกว่าราคาตลาดกิโลกรัมละ 2 บาท ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาโครงการช่วยเหลือของรัฐ แต่ยังมีปัญหาการหาตลาดและพัฒนาคุณภาพข้าวให้ได้เกณฑ์มาตรฐาน
สอดคล้องกับนางธนมน วัฒนเรืองโกวิท เจ้าของโรงสีกิจเจริญยโสธร จำกัด เห็นว่าการส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องหาตลาดรองรับด้วย
สำหรับจังหวัดยโสธร ปัจจุบันปลูกข้าวอินทรีย์กว่า 42,000 พันไร่ โดยจังหวัดตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่ปลูกให้ได้ 100,000 ไร่ ภายใน 2 ปี