ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ค้นพบ "ปลารากกล้วย" ชนิดใหม่ 3 สายพันธ์ุของไทยและลุ่มแม่น้ำโขง

Logo Thai PBS
ค้นพบ "ปลารากกล้วย" ชนิดใหม่ 3 สายพันธ์ุของไทยและลุ่มแม่น้ำโขง
ข่าวดี ดร.เชาวลิต วิทยานนท์ และทีมวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ค้นพบปลารากกล้วยชนิดใหม่ของไทย และลุ่มน้ำโขงถึง 3 สายพันธุ์ โดยใช้เวลาในการศึกษาวิจัยกว่า 10 ปี เพิ่งได้รับการยืนยันจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา สหรัฐอเมริกา

วันนี้(1 พ.ย.2560) ดร.เชาวลิต วิทยานนท์ ได้ศึกษาและเก็บข้อมูลเรื่องปลารากกล้วยมากว่า 10 ปี เนื่องจากลองสังเกตว่าปลารากกล้วย ที่คนรับประทานนั้นมีลักษณะไม่เหมือนกัน จึงได้ลงพื้นที่เก็บตัว อย่างประชากรปลาในแม่น้ำทั่วประเทศไทย และบริเวณลุ่มน้ำโขงแถบกัมพูชา ลาว และเวียดนาม โดยได้รับความร่วมมือจากกรมประมง และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในการศึกษาค้นคว้าและเก็บข้อมูล ก่อนนำไปส่งตรวจ DNA ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา จนได้รับการยืนยันว่าเป็นปลารากกล้วยชนิดใหม่ ของไทยและลุ่มน้ำโขง ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากปลารากกล้วยในประเทศพม่า และอินโดนีเซีย ที่เคยมีการวิจัยมาก่อนหน้านี้

ดร.เชาวลิต กล่าวว่า ปลารากกล้วยชนิดใหม่ที่พบมี 3 ชนิด ได้แก่ ชนิดแรก คือปลารากกล้วยชนิดจุด ตัวและแก้มมีลายจุด มีหนวดที่ปลายคาง 2 เส้น ซึ่งแตกต่างจากชนิดอื่นที่มีหนวด 4 เส้น ชนิดที่ 2 คือ ปลารากกล้วยชนิดตัวยาว มีความยาวถึง 15–20 ซม.ลักษณะลำตัวเรียวยาวกว่าชนิดอื่น และชนิดสุด ท้าย คือ ปลารากกล้วยชนิดด่าง เป็นปลารากกล้วย ที่มีจุดแต้มใหญ่บริเวณลำตัว ซึ่งเป็นจุดเด่นและแตกต่างจากปลารากกล้วยชนิดอื่น

สำหรับปลารากกล้วยในประเทศไทย ปัจจุบันพบประมาณ 7 ชนิด ทั้งที่มีการระบุชื่อแล้วและยังไม่มี โดยปลารากกล้วยทั้ง 3 ชนิดที่พบใหม่นี้สามารถพบได้มากบริเวณ แม่น้ำแม่กลอง จ.ราชบุรีไปจนถึงจ.กาญจนบุรี แม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งจ.สุโขทัย ลุ่มน้ำสงคราม แม่น้ำโขง จ.อุบลราชธานี และลุ่มน้ำยมตอนล่าง โดยช่วงต้นฤดูฝนเป็นช่วงที่พบมากที่สุด

 

ทั้งนี้การศึกษาวิจัยปลารากกล้วยชนิดใหม่ นอกจากจะเป็นการค้นคว้าวิจัยที่ประสบความสำเร็จแล้วยังทำให้ทราบถึงคุณภาพของน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ว่ายังคงมีคุณภาพที่ดีเยี่ยมอยู่ เนื่องจากปลารากกล้วยเป็นสัตว์น้ำที่ไม่สามารถทนต่อมลพิษทางน้ำได้ หากไนโตรเจนในน้ำสูงเกินไป ปลารากกล้วยก็สามารถตายได้ทันที เมื่อลงพื้นที่ศึกษาวิจัยแล้วพบปลารากกล้วยจึงมั่นใจได้ว่าคุณภาพน้ำในบริเวณเหล่านั้นยังดีอยู่

อย่างไรก็ตามปลารากกล้วยในสมัยก่อนนั้นมีจำนวนมาก จึงทำให้นิยมถูกนำมาผลิตเป็นน้ำปลาแต่ในปัจจุบันจำนวนปลารากกล้วยเริ่มลดน้อยลง จนทำให้ไม่มีการผลิตน้ำปลาจากปลารากกล้วยแล้ว หรือมีการผลิตลดน้อยลง รวมถึงราคาของปลารากกล้วยที่เพิ่มสูงขึ้นจากแต่ก่อน

ขอบคุณภาพ ิเฟซบุ๊ก Chavalit Vidthayanon 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง