วานนี้ (14 ส.ค.2560) เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือ ทช.ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านขายของที่ระลึก พบชิ้นส่วนที่มีลักษณะคล้ายกับชิ้นส่วนของปลาโรนิน หรือปลากระเบนท้องน้ำ สัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธ์ุ ถูกนำมาวางจำหน่ายตามร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก ภายในสุสานหอย 75 ล้านปี
ซากชิ้นส่วนที่เป็นหนามส่วนหลังของปลากระเบนท้องน้ำ หรือปลาโรนิน ถูกนำมาวางจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวนำไปทำเป็นเครื่องประดับ ภายในร้านจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกบริเวณสุสานหอย 75 ล้านปี ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่
โดยเจ้าของร้านติดราคาไว้ว่า "เบนท้องน้ำ" หนังของปลากระเบนส่วนหลัง มีราคาตั้งแต่ 350-800 บาทสำหรับชิ้นส่วน 1 ชิ้น
นายวิทยา ขุนสัน หัวหน้าหน่วยอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จังหวัดกระบี่ บอกว่า ปลาโรนินเป็นสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ การที่พบชิ้นส่วนนำมาวางขาย ยอมรับว่าการตรวจสอบด้วยตาเปล่าทำได้ยาก เพราะมีลักษณะคล้ายกัน จึงต้องใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เพื่อตรวจสอบว่าเป็นปลาโรนินหรือไม่
ทั้งนี้ ปลาโรนินมักอาศัยอยู่ในทะเลลึกแถบอันดามัน ซึ่งแม้จะไม่เป็นที่นิยมรับประทาน แต่ส่วนหลังที่เป็นหนาม มักถูกนำมาทำเครื่องประดับ เช่นหัวแหวน หรือกระเป๋า
ซึ่งปลาโรนินเป็น 1 ใน 12 สัตว์ทะเลที่ถูกกำหนดให้เป็นสัตว์คุ้มครอง และ ครม.ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวนตั้งแต่เดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว
แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ประกาศใช้แต่อย่างใด ทำให้นักอนุรักษ์หลายคนเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งประกาศใช้กฎหมายที่กำหนดให้ปลาสวยงามชนิดนี้เป็นสัตว์คุ้มครองโดยเร็ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์แสดงความคิดเห็นต่อภาพและข้อความที่โพสต์ในเฟซบุ๊กที่มีชื่อว่า Unjunior Phuket ซึ่งภาพที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์เป็นภาพปลาโรนิน หรือกระเบนท้องน้ำ ถูกวางขายบนแผงขายปลาในตลาด ราคาตัวละ 8,000 บาท ข้อความส่วนใหญ่แสดงความเสียดายและเป็นห่วง เมื่อสัตว์ทะเลหายากถูกจับมาขาย แทนที่อวดความสวยงามอยู่ในทะเล ทำให้นักอนุรักษ์เรียกร้องให้รัฐบาล เร่งประกาศใช้กฎหมายที่กำหนดให้ปลาสวยงามชนิดนี้เป็นสัตว์คุ้มครอง