วันนี้ ( 14 ส.ค.2560 ) ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบริหาร ประชุมเพื่อติดตามและทบทวนแผนหลักการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาน้ำท่วมทั่วประเทศให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน ให้เป็นไปตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีผู้อำนวยการสำนักและเจ้าหน้าที่ร่วมประชุมระดมความเห็น เพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการแก้ไขปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งเร่งด่วนทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เดิมเคยมีปัญหาเฉพาะการขาดแคลนน้ำเป็นหลักให้เพิ่มเติมการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในแต่ละลุ่มน้ำด้วย โดยจะพิจารณานำเสนอแผนงานในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จ.นครราชสีมา ในวันที่ 22 ส.ค.นี้
เปิดแผนพัฒนา"หนองหาร" 3.8 พันล้านตื้นเขิน
ดร.สมเกียรติ บอกว่า โดยเฉพาะกรณีน้ำท่วมสกลนคร หนึ่งในสาเหตุคือประสิทธิภาพการระบายน้ำ จากพื้นที่ลงสู่หนองหาร และประสิทธิภาพการระบายน้ำออกจากหนองหาร มีค่อนข้างต่ำเนื่องจากมีสิ่งกีดขวางทางไหลของน้ำ ประกอบกับหนองหารตื้นเขิน
โดยแผนพัฒนาหนองหาร ประกอบด้วยการเพิ่มความสามารถในการเก็บกักน้ำของแหล่งน้ำที่มีอยู่ก่อนลงหนองหาร ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เป็นอุปสรรคของน้ำในการไหลลงสู่หนองหาร พัฒนาโครงการผันน้ำส่วนเกินจากต้นน้ำไปท้ายหนองหาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ โดยการก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำพุง - น้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมปรับปรุงร่องช้างเผือก จะช่วยระบายน้ำเพิ่มได้ 53 ลบ.ม.ต่อวินาที รวมทั้งปตร.น้ำพุง ควบคุมน้ำเข้าสู่ทางระบายน้ำร่องช้างเผือก และคลองหนองแซง-ห้วยซัน-ห้วยยาง ลงสู่ลำน้ำก่ำ ซึ่งจะระบายน้ำเลี่ยงหนองหารได้ ประมาณ 4.58 ล้านลบ.ม.ต่อวัน
นอกจากนี้จะต้องขุดลอกตะกอนดินหนองหาร และขุดลอกตะกอนปากแม่น้ำที่ไหลลงหนองหารจำนวน 10 แห่ง เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำลงสู่หนองหาร และปรับปรุงขุดลอกลำน้ำก่ำ สิ่งกีดขวางทางน้ำในลำน้ำก่ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำออกจากหนองหารลงสู่แม่น้ำโขง อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การใช้น้ำจากหนองหารให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งจะต้องสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า และระบบกระจายน้ำอีก 15 แห่ง เพื่อที่จะสามารถส่งน้ำไปยังพื้นที่ที่ใช้น้ำจากหนองหารไม่ได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์อีกด้วย
ทั้งนี้ จากการประชุม การบูรณการทำงานร่วมกันระหว่าง กรมชลประทาน กรมประมง กรมโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดสกลนคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในส่วนของกรมชลประทานได้จัดทำแผนงานที่จะดำเนินการตั้งแต่ปี 2561-2565 คาดว่าจะใช้งบทั้งสิ้นประมาณ 3,800 ล้านบาท