น้ำจากแม่น้ำชีตอนบนและลำน้ำพองที่ไหลมารวมกับน้ำจากเขื่อนลำปาวมีแนวโน้มลดลง ยอดน้ำเคลื่อนผ่านแม่น้ำชีตอนล่างที่ จ.ร้อยเอ็ด วัดได้ 1,134 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ล้นตลิ่ง 90 ซม.มีแนวโน้มสูงขึ้นและที่ จ.ยโสธร สูงกว่าตลิ่ง 1 ม.มีแนวโน้มทรงตัว
ส่วนแม่น้ำมูลจากการที่แม่น้ำชีสูงสุดไหลผ่านสถานีวัดที่ จ.ยโสธร และน้ำจาก จ.ศรีษะเกษ มีแนวโน้มสูงขึ้น คาดการณ์ว่า จะทำให้แม่น้ำมูลใน จ.อุบลราชธานี มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าจะไหลสูงสุดในวันที่ 12 ส.ค.นี้ น้ำจะสูงกว่าตลิ่ง 95 ซม.แต่ไม่ส่งผลต่อพื้นที่เขตเมือง จ.อุบลราชธานี
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการยอดน้ำระหว่างแม่น้ำชีกับแม่น้ำมูลไม่ให้หลากมาที่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี พร้อมกันโดยลดการระบายน้ำจากแม่น้้ำชีตอนบน -กลาง ที่ไหลมาสมทบกับน้ำที่ระบายมาจากเขื่อนลำปาวที่มาสมทบกับแม่น้ำมูล โดยควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่านฝายชนบทและมหาสารคาม ไม่ให้เกิน 80 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และเพิ่มการระบายแม่น้ำชีตอนล่าง โดยติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่ฝาย จ.ร้อยเอ็ด เพื่อระบายน้ำลงแม่น้ำชีให้เร็วขึ้น
ประกอบกับการหน่วงน้ำในแม่น้ำมูลด้วยการลดการระบายน้ำผ่านฝายราษีไศล เพื่อให้ยอดน้ำหลากสูงสุดจากแม่น้ำชี ไหลผ่าน อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ไหลลงแม่น้ำโขงไปก่อน หลังจากยอดน้ำหลากสูงสุดผ่าน อ.เมือง จ.อุบลฯ แล้วจะทยอยเพิ่มการระบายน้ำจากฝายราษีไศลต่อไป
นอกจากนี้ สถานการณ์น้ำ 3 ใน 11 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม ซึ่งจะต้องถูกบริหารน้ำไหลออก ให้สอดคล้องกับน้ำไหลเข้า เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ยังคงเพิ่มปริมาณการระบายน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมีฝนตกเหนือเขื่อนมาก พื้นที่ท้ายเขื่อน 5 อำเภอ ยังคงถูกน้ำท่วมสูง เจ้าหน้าที่ยังเฝ้าระวังพนังกันน้ำชีในอำเภอเมือง และ อ.ฆ้องชัย เพื่อป้องกันน้ำกัดเซาะ
ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เจ้าหน้าที่ต้องเร่งพร่องน้ำลงพื้นที่ท้ายเขื่อน เพื่อเตรียมรับมือน้ำระลอกใหม่ ขณะที่เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ถือว่าระดับน้ำยังทรงตัว พื้นที่ติดลำน้ำอูน ยังคงได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมต่อเนื่อง