วันนี้ (31ก.ค.2560) นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช บอกว่า 31 ก.ค.ของทุกปี เป็นวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก world ranger day วันระลึกถึงผู้พิทักษ์ป่าที่บาดเจ็บและเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ ร่วมเป็นกำลังใจให้ผู้พิทักษ์ป่า กลุ่มคนที่มีความเสียสละในการปกป้องผืนป่าและทรัพยากรธรรมชาติให้อยู่คู่ไทย
วันผู้พิทักษ์ป่าโลก กำหนดขึ้นครั้งแรกในการประชุม World Congress Ranger ปี 2006 ที่สกอตแลนด์ ผู้เข้าร่วมประชุมจาก International Federation Ranger (IRF) หรือสมาพันธ์ผู้พิทักษ์ป่าระหว่างประเทศ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการทำงานของผู้พิทักษ์ป่า ผู้เป็นกำลังสำคัญในการทำหน้าที่ปกป้องพื้นที่คุ้มครองของโลก ได้ลงมติให้วันที่ 31 ก.ค.ของทุกปีเป็นวันผู้พิทักษ์ป่าโลก เริ่มต้นในปี 2007 ในวันผู้พิทักษ์ป่าโลกครั้งแรกได้รวบรวมเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้พิทักษ์ป่าทั่วโลกแสดงเป็นภาพยนต์ในรอบปฐมทัศน์เรื่อง “The Thin Green Line”
ผู้พิทักษ์ป่าโลก คำว่า “ranger” (เรนเจอร์) ในภาษาอังกฤษหมายถึงผู้คุ้มครองป่าของราชวงศ์อังกฤษ ในศตวรรษที่ 14 ทำหน้าที่ปกป้องที่ดินของกษัตริย์จากการล่าสัตว์ วันนี้ผู้พิทักษ์ป่าในพื้นที่คุ้มครองทั่วโลกได้ส่งต่อภารกิจในการปกป้องพื้นที่คุ้มครองสำหรับสาธารณะชนอย่างต่อเนื่อง ผู้พิทักษ์ป่าเป็นกำลังสำคัญในการปกป้องทรัพยากรจากการรุกราน โดยการบังคับใช้กฎหมาย กิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษา สร้างความสัมพันธ์กับชุมชน, การดับไฟป่า, การดำเนินการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย และงานด้านอื่น ๆ อีกมากมาย
กางรายได้คนเฝ้าป่าไทย
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ศึกษาจากสถิติมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตระหว่างปี 2557 -2559 พบว่า เสียชีวิต 36 ราย บาดเจ็บสาหัส 14 ราย ได้รับบาดเจ็บ 25 ราย รวมทั้งหมด 75 ราย ขณะที่ปีงบประมาณ 2560 พบว่า เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 3 ราย รวมทั้งหมด 5 ราย พร้อมมอบโล่เกียรติคุณและเงินช่วยเหลือญาติของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เสียและได้รับบาดเจ็บขณะที่ปฎิบัติหน้าที่ 13 ราย และมอบเงินเข้ากองทุนผู้ทักษ์ป่า 2 กองทุน คือกองทุนสงเคราะห์เจ้าหน้าที่ประสบภยันตรายในการปฎิบัติหน้าที่กรมอุทยาน และกองทุนสวัสดิการกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ถือเป็นกองทุนหลักสนับสนุนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เช่น เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บจากการปฎิบัติหน้าที่ หรือทุพลภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ทำความดีและทำงานที่เสียสละนอกจากนี้ยังพบว่า ผู้พิทักษ์ป่ามีทั้งลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ และลูกจ้างชั่วคราวในลักษณะพนักงานจ้างเหมา ต่อสัญญาปีต่อปี ซึ่งพบว่าในจำนวนผู้พิทักษ์ป่า เป็นพนักงานจ้างเหมามากถึงร้อยละ 92 จากเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่อนุรักษ์ทั้งหมด มีรายได้เพียงเดือนละ 9,000 บาท ซึ่งยังไม่มีความมั่นคง ส่วนลูกจ้างประจำมีรายได้ 9,400 – 21,010 บาทต่อเดือน และพนักงานราชการ รายได้ 11,280 – 24,930 บาทต่อเดือน
แม้ภารกิจของผู้พิทักษ์ป่าจะไม่แตกต่างกัน แต่การจ้างงานที่ต่างกันส่งผลต่อรายได้และความมั่นคง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติหน้าที่บนความเสี่ยงอันตรายในงานลาดตระเวนที่อาจต้องเผชิญเหตุปะทะได้ตลอดเวลา จึงเสนอให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ควรตั้งกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า ซึ่งกองทุนของของมูลนิธิสืบนาคเสถียรที่ ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2533 เพื่อช่วยเหลือผู้พิทักษ์ป่าเบื้องต้นในกรณีที่ต้องสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่