ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"แฮร์รี่ พอตเตอร์" วรรณกรรมเปลี่ยนโลก

ต่างประเทศ
26 มิ.ย. 60
18:43
4,829
Logo Thai PBS
"แฮร์รี่ พอตเตอร์" วรรณกรรมเปลี่ยนโลก
ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว "แฮร์รี่ พอตเตอร์" ถูกตีพิมพ์และวางจำหน่ายเป็นครั้งแรกที่อังกฤษ ซึ่งมีอิทธิพลและกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้อ่านหลายล้านคนทั่วโลก รวมทั้งยังส่งแรงกระเพื่อมไปยังกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอน กีฬา และการเมือง

วันนี้ (26 มิ.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 1997 แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ ได้เปิดตัวเป็นวันแรก โดยตีพิมพ์ทั้งหมด 1,000 เล่ม ซึ่งในจำนวนนี้ 500 เล่ม ถูกแจกจ่ายให้แก่ห้องสมุดต่างๆ และในปัจจุบัน วรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้ทำยอดขายและตีพิมพ์มากกว่า 4 ล้านเล่มและจัดจำหน่ายใน 200 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ ยังถูกนำไปแปลเป็นภาษาต่างๆ ทั้งหมด 68 ภาษา แม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเนื้อหาเรื่องการใช้ความรุนแรงและการต่อสู้บ้างก็ตาม เรียกได้ว่า โจแอน แคธลีน โรว์ลิ่ง หรือที่เรารู้จักกันในนาม เจ.เค.โรว์ลิ่ง ทำให้อัตราการซื้อหนังสือเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังสร้างนักอ่านและนักเขียนรุ่นใหม่จนกลายเป็นกระแสต่อเนื่อง

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ดึงดูดเฉพาะเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมให้ผู้ใหญ่หันมารักการอ่านมากขึ้นอีกด้วย เนื่องจากเนื้อหาและการใช้ภาษาที่ไม่ซับซ้อนจนเกินไป นอกจากนี้ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ยังเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนวรรณกรรมเยาวชนประเภทแฟนตาซีเหนือจินตนาการอีกหลายต่อหลายเรื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมไปถึงการเขียนเรื่องราวต่อยอดจินตนาการของบรรดาคนรักแฮร์รี่ พอตเตอร์ บนอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับโรงเรียนฮอกวอตส์และครอบครัวเดอร์สลีย์ ทั้งหมดล้วนปลูกฝังวัฒนธรรมของการเขียนและการอ่านซึ่งถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์กับเด็กรุ่นใหม่ ท่ามกลางกระแสการอ่านหนังสือบนเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

ผลจากการปลูกฝังการอ่านและการเขียน คือการบัญญัติคำศัพท์ชุดใหม่ โดยพจนานุกรม Oxford English Dictionary และบนเว็บไซต์ Oxford Dictionaries เช่น คำว่า มักเกิล ซึ่งในหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ คำว่า มักเกิล หมายถึง ผู้ที่ไม่มีเวทมนตร์ ขณะที่พจนานุกรมให้ความหมายของคำนี้ว่า ผู้ที่ไม่มีทักษะอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นพิเศษ หรือแม้กระทั่งคำว่า ควิดดิช ซึ่งเป็นกีฬายอดนิยมในโลกเวทมนตร์ก็ยังถูกบรรจุลงไปในพจนานุกรมดังกล่าวเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีชุดคำศัพท์ในเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ อีกจำนวนหนึ่งที่สำนักพิมพ์ Oxford University Press กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาบัญญัติเป็นศัพท์ใหม่ในพจนานุกรมด้วย ก่อนหน้านี้ มีนักเขียนจำนวนไม่น้อยที่เป็นต้นกำเนิดของคำศัพท์ใหม่ โดยในจำนวนนี้มี จอร์จ ออร์เวลล์ ผู้ประพันธ์วรรณกรรมเสียดสีการเมือง เรื่อง 1984 หรือ Nineteen Eighty-Four รวมอยู่ด้วย

8 ปี หลังจากหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มแรกออกวางจำหน่าย กีฬาในโลกเวทย์มนตร์ อย่างกีฬาควิดดิช กลายเป็นกีฬาที่จัดแข่งขันกันเป็นประจำทุกปีในโลกแห่งความเป็นจริง ภายใต้ชื่อการแข่งขัน ควิดดิช เวิลด์ คัพ โดยภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันควิดดิช เวิลด์ คัพ ที่ประเทศเยอรมนี เมื่อปีที่ผ่านมา โดยออสเตรเลียเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะในการแข่งขัน ผู้เล่นแต่ละคนจะมีตำแหน่งเหมือนกับในหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น Keepers, Beaters หรือตำแหน่งสำคัญอย่าง Seeker ซึ่งรับหน้าที่คอยจับลูกสนิชทองคำ โดยการแข่งขันควิดดิช เวิลด์ คัพ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกา

ปรากฏการณ์เปลี่ยนโลกประการสุดท้ายที่วรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้ฝากไว้ คือการสร้างอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่ หรือ Millenial Generation ซึ่งครอบคลุมกลุ่มคนที่เกิดตั้งแต่ปี 1981 จนถึงปี 1997 ได้เป็นอย่างดี น้อยคนที่จะไม่รู้จักหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ ขณะที่ เจ.เค.โรว์ลิ่ง ถือเป็นนักเขียนที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดความคิดของเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ไม่น้อย เนื่องจากขณะนี้โรว์ลิ่งมีผู้ติดตามมากถึง 11 ล้านคน ซึ่งยังไม่รวมถึงแฟนหนังสือที่ไม่ได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์

นอกจากนี้ ตัวละครในเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์อย่างโวลเดอมอร์ยังถูกนำมาเปรียบเทียบกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมพ์ ในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อปีที่ผ่านมา หลังจากที่ผู้นำสหรัฐอเมริกาชูประเด็นกีดกันไม่ให้ชาวมุสลิมเดินทางเข้าประเทศจนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้โรว์ลิ่งออกมาตอบโต้ผ่านทวิตเตอร์ว่า โดนัลด์ ทรัมพ์ อาจจะเลวร้ายกว่าโวลเดอมอร์ด้วยซํ้า ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้สนับสนุนทรัมพ์จนนำไปสู่การข่มขู่ว่าจะเผาหนังสือของเธอ

แม้จะเป็นเพียงวรรณกรรมเยาวชนที่เกิดขึ้นจากจินตนาการ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าแฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับโลกของเราเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้อ่านตั้งคำถามกับประเด็นต่างๆ จนเกิดการค้นคว้าและเรียนรู้เรื่องราวอีกหลายอย่างตามมาทั้งในแง่สังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

ฉลอง 20 ปีวรรณกรรมเยาวชน แฮร์รี่ พอตเตอร์ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง