ย้อนกลับไปเมื่อเวลา 18.08 น. ของวันที่ 5 พ.ค.2557 ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของประเทศไทยในรอบ 100 ปี ขนาด 6.3 ความลึก 10 กิโลเมตร ในพื้นที่ อ.พาน อ.แม่ลาว และ อ.เมือง จ.เชียงราย
ผ่านมา 3 ปี ร่องรอยความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือนที่ส่งผลให้บ้านเรือน วัด อาคาร รวมทั้งถนน ยังคงปรากฏ
ยอดพระธาตุจอมหมอกแก้วหักจากแผ่นดินไหว 6.3
"ตั้งแต่เด็กจนอายุ 60 ปี ไม่เคยเห็นเหตุการณ์แบบนี้ มันรุนแรงมาก บางคนต้องสร้างบ้านใหม่เป็นล้านบาท หลายคนก็มีความวิตกกังวลและกลัว เวลาได้เสียงรถบรรทุกดังๆ ก็คิดว่าเป็นแผ่นดินไหว ขณะนี้ยังไม่มีการซ้อมแผนรับมือแผ่นดินไหวเลย ก็ยังกังวลไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่"
บุญสอน ปงรังสี สมาชิกสภาเทศบาล ต.ป่าก่อดำ
นายบุญสอน ปงรังสี สมาชิกสภาเทศบาล ต.ป่าก่อดำ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย บอกว่า ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาซักซ้อมแผนรับมือแผ่นดินไหวให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ขณะที่ปีนี้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เริ่มเข้ามาซ่อมแซมวัดพระธาตุจอมหมอกแก้วที่ได้รับความเสียหาย ยอดฉัตรพระธาตุจอมหมอกแก้วหักลงมาและพื้นปูนแตกร้าวเป็นแนวยาว
หมู่บ้านดงมะเฟือง ต.จอมหมอกแก้ว อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว รัศมี 5 กิโลเมตร จึงส่งผลให้เกิดความเสียหายมาก
เหลี่ยม ปัญญาไว ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 ต.จอมหมอกแก้ว
นายเหลี่ยม ปัญญาไว ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 บ้านดงมะเฟือง บอกว่า หมู่บ้านดงมะเฟืองอยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว 6.3 รัศมี 5 กิโลเมตร ทำให้บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 11 หลัง เสียหายบางส่วน 169 หลัง จากทั้งหมด 180 หลังคาเรือน แม้จะผ่านฝันร้ายมาถึง 3 ปี แต่ขณะนี้ชาวบ้านปรับตัวและทำใจยอมรับขึ้นแล้ว หลังตื่นตระหนกกับเหตุการณ์นานกว่า 1 ปี เพราะเกิดอาฟเตอร์ช็อกต่อเนื่องหลายครั้ง ขณะที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้เข้ามาแนะนำชาวบ้านเรื่องการซ่อมแซม หรือสร้างบ้านที่เน้นรากฐานแข็งแรง เพื่อรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหว
“ชาวบ้านเริ่มชินและปรับตัวได้ ถ้าเกิดแผ่นดินไหวเล็กน้อย หรือได้รับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวเมียนมา ชาวบ้านก็จะไม่ได้รู้สึกกลัวเหมือนเมื่อครั้งที่เกิดที่เชียงรายปี 2557 บ้านก็มั่นคงกว่าเดิม เมื่อก่อนสร้างแบบไม่แข็งแรง แต่ตอนนี้มีความรู้เรื่องการสร้างบ้าน เน้นผูกเหล็กจากเส้นเล็กๆ เป็นใหญ่ขึ้นถี่ขึ้น ถือเป็นความรู้ ทำตามคำแนะนำของ วสท.” นายเหลี่ยม กล่าว
นายเหลี่ยม บอกอีกว่า ชาวบ้านซ่อมแซมและสร้างบ้านหลังใหม่ครบถ้วนทุกหลังแล้ว ขณะที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาซักซ้อมแผนรับมือแผ่นดินไหว และเอกชนได้ช่วยเหลือเพิ่มเติม เช่น บริจาคเงิน ปูนซีเมนต์ ส่วนการซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างของวัดดงมะเฟืองที่ได้รับความเสียหายทั้งหมด คืบหน้าแล้ว ร้อยละ 80 เหลือเพียงพระอุโบสถ ซุ้มประตู และพระธาตุ
“ตอนนี้ค้างเงินค่าสร้างซุ้มประตู อุโบสถ และพระธาตุ กว่า 2 ล้านบาท ก็ประชาสัมพันธ์ให้ช่วยบริจาคเพราะวัดดงมะเฟืองเสียหายทั้งหมด เหมือนสร้างวัดใหม่เลย” นายเหลี่ยม กล่าว
วัดดงมะเฟืองได้รับความเสียหายหนักจากเหตุแผ่นดินไหว 6.3 จ.เชียงราย
วัดดงมะเฟืองได้รับความเสียหายหนักจากเหตุแผ่นดินไหว 6.3 จ.เชียงราย
วัดดงมะเฟืองได้รับความเสียหายหนักจากเหตุแผ่นดินไหว 6.3 จ.เชียงราย
พระอุโบสถวัดดงมะเฟือง ออกแบบและสร้างใหม่รองรับแผ่นดินไหว
พระอุโบสถวัดดงมะเฟือง ออกแบบและสร้างใหม่รองรับแผ่นดินไหว
วสท.สร้างศาลาเอนกประสงค์ วัดดงมะเฟือง รองรับแผ่นดินไหว
ขณะที่นายสมบูรณ์ โฆษิตานนท์ ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ภายหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 6.3 ที่ จ.เชียงราย ซึ่งใหญ่ที่สุดในไทยเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมบูรณาการข้อมูลในการเตรียมความพร้อมสำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว โดยจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดภาคเหนือ ติดตั้งเครื่องมือวัดคลื่นสั่นสะเทือนพื้นดิน (เครื่องตรวจจับแผ่นดินไหวอัตโนมัติ) กว่า 60 สถานี และทุกจุดรอยเลื่อนมีพลังในไทย 14 รอยเลื่อน เช่น อ.เมือง จ.เชียงราย วางอยู่บนรอยเลื่อนพะเยา อ.ปง จ.พะเยา อ.งาว จ.ลำปาง รวมทั้งจัดทำศูนย์เรียนรู้ธรณีพิบัติภัยรายภาค นอกจากนี้ กรมชลประทานยังติดตั้งเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนบริเวณเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำที่อาจส่งผลกระทบกับประชาชนกรณีเกิดแผ่นดินไหว และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รับผิดชอบเรื่องการซักซ้อมแผนรับมือ โดยสมมุติสถานการณ์จริงเมื่อเกิดเหตุกับชาวบ้านในพื้นที่
บ้านเรือนประชาชน ต.ดงมะดะ เสียหายทั้งหลังจากแผ่นดินไหว 6.3 ยังไม่ได้ซ่อมแซม
บ้านเรือนประชาชน ต.ดงมะดะ เสียหายทั้งหลังจากแผ่นดินไหว 6.3 ยังไม่ได้ซ่อมแซม
บ้านเรือนประชาชน ต.ดงมะดะ เสียหายทั้งหลังจากแผ่นดินไหว 6.3 ยังไม่ได้ซ่อมแซม
วันนี้ (5 พ.ค.2560) เป็นวันครบรอบ 3 ปี กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับจังหวัดเชียงราย จัดกิจกรรม "รำลึก 3 ปี เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 จังหวัดเชียงราย" เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้ตระหนักและเป็นข้อมูลในการเตรียมพร้อมรับเหตุแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิต และกิจกรรมปั่นจักรยาน ณ เทศบาลตำบลดงมะดะ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย
สำหรับเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ความลึก 10 กิโลเมตร จ.เชียงราย ศูนย์กลางอยู่บริเวณ ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ถือเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดของไทยในรอบ 100 ปี เนื่องจากการเลื่อนตัวในแนวระนาบเหลื่อมซ้ายของกลุ่มรอยเลื่อนพะเยาส่วนเหนือ (ส่วนแม่ลาว) ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 8,953 หลังคาเรือน วัด 99 แห่ง โบสถ์คริสต์ 7 แห่ง โรงเรียน 35 แห่ง สถานพยาบาล 25 แห่ง
แผ่นดินไหว 6.3 ทำให้เศรียรพระพุทธรูปวัดอุดมวารีหักตกลงมา
วัดอุดมวารีซ่อมแซมเศรียรพระพุทธรูปแล้ว