ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตำนาน “ระฆัง” วัดพระแก้ว

สังคม
11 ก.พ. 60
19:49
26,432
Logo Thai PBS
ตำนาน “ระฆัง” วัดพระแก้ว
เป็นเวลา28 ปีแล้วที่ไม่ได้ยินเสียงระฆังจากวัดพระแก้ว ซึ่งร่ำลือว่ามีเสียงกังวานไพเราะและสำคัญอย่างมาก ขนาดที่ว่าต้องพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าฯให้นำมาไว้ในขอบเขตพระราชฐานและเป็นตำนานเล่าขานจนทุกวันนี้

วันนี้ (11 ก.พ.2560 ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้อยครั้งที่จะได้ยินเสียงระฆังของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว หากในพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตามแบบแผนพระราชประเพณีจะได้ยินเสียงย่ำระฆังอีกครั้ง เป็นดังสัญญาณว่าการสถาปนาราชาแห่งสงฆ์พระองค์ใหม่ คือห้วงเวลาที่มีความหมายพิเศษ โดยมีการเจริญชัยมงคลคาถาและย่ำระฆังพร้อมกันของอารามทั่วพระราชอาณาจักร

หากเรื่องราวที่มาของระฆังยังไม่ชัดเจนว่าทรงโปรดให้หล่อขึ้นใหม่เพื่อประดิษฐานที่หอระฆังวัดพระแก้วเป็นการเฉพาะ หรือตามตำนานเล่าขานว่าทรงผาติกรรมหรือแลกเปลี่ยนมาจากวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร

“ ทางหนึ่งกล่าวกันว่าเป็นระฆังที่ได้มาจากวัดระฆังโฆสิตาราม และเป็นระฆังที่มีเสียงไพเราะ งดงาม เสียงส่วนใหญ่ว่ากันเช่นนั้น แต่ก็มีผู้ใหญ่บางท่านมีข้อพิจารณาว่าอาจจะเป็นระฆังซึ่งหล่อขึ้นประมาณรัชกาลที่ 3” ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญด้านพระราชพิธี กล่าว

มีเรื่องเล่าว่าระฆังใบสำคัญที่เล่าลือว่ามีเสียงดังกังวานไพเราะที่สุดของวัดพระแก้วนั้น นำไปจากวัดระฆังโฆสิตาราม และในคราวทำผาติกรรม หรือแลกเปลี่ยนระฆังกับวัด รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างระฆังขึ้นมาใหม่อีก 5 ใบ พระราชทานแทนมาให้กับวัด ปัจจุบันยังคงใช้สืบต่อมา ตีบอกเวลาการทำสังฆกรรมลงโบสถ์ของพระสงฆ์

รูปแบบเฉพาะของหอระฆัง วัดระฆังโฆสิตาราม สร้างแบบจตุรมุขเคียงกับพระปรางค์ที่รัชกาลที่ 1 มีพระราชศรัทธาสร้างพระราชทานร่วมกุศลกับสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระยาเทพสุดาวดี สมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ ผ่านการบูรณะปฏิสังขรณ์มาแล้วหลายครั้ง ให้เป็นที่ประดิษฐานระฆังทั้ง 5 ใบ ตามประวัติวัดบันทึกว่าเป็นระฆังพระราชทานเปลี่ยนกับระฆังของวัดที่พบคราวบูรณะปฏิสังขรครั้งใหญ่ สมัยรัชกาลที่ 1 และเป็นที่มาของนามวัดพระราชทานแทนชื่อวัดบางหว้าใหญ่ ที่เรียกมาแต่เดิมเป็นวัดระฆังโฆสิตาราม

“ ระฆังนี่ แม้พระองค์จะเป็นพระมหากษัตริย์ ขอระฆังของวัดไป หลักของโบราณ ต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน ไม่ใช่เอาของวัดไปโดยพลการ เพราะกลัวบาป เมื่อเป็นดังนี้เข้าใจว่าเป็นพระราชดำริในการหล่อระฆัง 5 ใบนี้ แล้วพระราชทานคืนมา” พระมหาปรีชา ปสันโน ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร กล่าว

“ระฆังที่วัดพระแก้ว สมัยโบราณน่าจะมีการตีอยู่เรื่อยๆ แต่ภายหลังก็ตีน้อยลง จนกระทั่งตีน้อยที่สุด คือจะตีเฉพาะพระราชพิธีสถาปนาสมพระสังฆราช ในวาระอันเป็นมงคลยิ่ง” นายอภิวัฒน์ โควินทรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม เครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม กล่าว

ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าระฆังของวัดพระแก้วสร้างขึ้นในสมัยใด หากหอระฆังเป็นการบูรณะใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งวัดพระแก้วอันเป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง แทบไม่มีการย่ำระฆังแม้มีพระราชพิธี 12 เดือน หากได้ยินเพียงวาระสำคัญเท่านั้น เช่นการแต่งตั้งประมุขทางธรรม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง