ชาวนาภาคอีสานได้รับผลกระทบราคาข้าวเปลือกตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ทำให้ไม่มีเงินไปใช้หนี้และใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งทางออกในขณะนี้พวกเขาต้องนำข้าวสารไปวางขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง หรือ ขายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อลดภาระการขาดทุน
นายทรัพย์ คำอินทร์ ชาวนาบ้านบอน ต.หาดคำ อ.เมือง จ.หนองคาย กล่าวว่า ได้จ้างแรงงานเก็บเกี่ยวข้าวนาปีในแปลงนาเพื่อนำไปขายให้โรงสีใกล้บ้าน ราคากิโลกรัมละ 6-7 บาท แม้จะรู้ดีว่าราคาข้าวปีนี้ตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี แต่ก็เป็นทางเลือกเดียวที่เขาจะขายข้าวเปลือกเพื่อนำเงินมาใช้หนี้และใช้จ่ายในครอบครัว
สำหรับต้นทุนการผลิตของชาวนาจะเริ่มตั้งแต่ค่าพันธ์ข้าว ค่าแรงงาน ค่าปุ๋ย และค่ารถเกี่ยว ซึ่งเป็นต้นทุนที่เกษตรกรต้องแบกรับ และหากราคาข้าวตกต่ำก็แทบจะหมดตัวเพราะชาวนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่ทำนาเพียงปีละ 1 ครั้ง และแม้จะมีนโยบายโครงการรับจำนำยุ้งฉางตันละ 11,000 บาท ก็อาจไม่คุ้มทุน
แตกต่างจากชาวนา อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ เลือกใช้วิธีนำข้าวเปลือกไปสี แล้วนำข้าวสารมาวางขายในตลาดสดเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ให้กับผู้บริโภคโดยตรงซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของชาวนาในช่วงนี้ หลังราคารับซื้อข้าวเปลือกอยู่ที่กิโลกรัมละ 5-6 บาท แต่หากสีแล้วนำมาขายเองชาวนายังมีกำไรกิโลกรัมละ 13 บาท
นอกจากนี้ ผลกระทบราคาข้าวที่ตกต่ำ ทำให้ชาวนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในจังหวัดสุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และ ขอนแก่น รวมกลุ่มแปรรูปหรือนำข้าวสารมาขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง หรือ โพสต์ขายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไป
ขณะที่ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เตรียมนำโครงการสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกหอมมะลิ และ ข้าวเหนียวปีการผลิต 2559/60 หรือ โครงการจำนำยุ้งฉางตันละ 11,000 บาทให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 1 พ.ย.นี้