ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดโปงเส้นทางค้าสัตว์ป่าไทย-ลาว ทั้ง “เสือ-นอแรด-งาช้าง-จระเข้-ลิง”

สิ่งแวดล้อม
3 ต.ค. 59
10:57
7,428
Logo Thai PBS
เปิดโปงเส้นทางค้าสัตว์ป่าไทย-ลาว ทั้ง “เสือ-นอแรด-งาช้าง-จระเข้-ลิง”

(ภาพบน) ซากเสือโคร่ง เสือดาว และลิ่นจำนวนมากที่ถูกจับได้ที่นครพนม ระหว่างความพยายามในการลักลอบส่งไปที่ลาว

วันนี้ (3 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า เฟซบุ๊ก ที่ใช้ชื่อว่า Sunshine Sketcher https://www.facebook.com/sunshine.sketcher/ ระบุถึงการค้าสัตว์ป่าในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ไทย-ลาว-เวียดนาม เส้นทางมัจจุราชของสัตว์ป่า รายงานข่าวขนาดยาวแบบเจาะลึกอาทิตย์นี้ในหนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษเปิดโปงขบวนการค้าสัตว์ป่าระดับโลกที่อาศัยความร่วมมือของนักธุรกิจ ผู้มีอิทธิพล และข้าราชการระดับสูง อำนวยความสะดวกให้การค้าสัตว์ป่าผิดกฏหมายขยายตัวอย่างน่าตกใจ

เฉพาะปี 2014 ที่มีข้อมูลชัดเจน รัฐบาลลาวมีส่วนออกใบอนุญาตให้บริษัทเอกชนในลาวค้าขายชิ้นส่วนสัตว์ป่าผิดกฎหมายมีมูลค่าสูงถึง 45 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 1500 ล้านบาท คิดเป็นซากเสือโคร่ง 165 ตัว นอแรดจากแรดกว่า 650 ตัว และช้างที่ถูกล่าเอางาอีกมากกว่า 16,000 ตัว หนึ่งในหัวหน้าแก๊งสำคัญที่บุกเบิกกิจการอย่างเป็นล่ำเป็นสันคือบริษัท ไชยสว่าง Xaysavang Trading Company ที่ตั้งขึ้นเมื่อ 14 ปีที่แล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2002 โดยนักธุรกิจลาวทรงอิทธิพล ชื่อ “นายวิชัย” ว่ากันว่าเส้นใหญ่ขนาดที่ไม่มีใครสามารถจับเขาได้ในลาว

เส้นทางการลักลอบค้าสัตว์ป่าสำคัญที่มีจุดเชื่อมต่อที่นครพนม ผ่านไปยังลาวและออกสู่เวียดนามที่เมือง Son Tay ภาพโดย IUCN Red List of Threatened Species

รายงานของตำรวจข่าวกรองของไทยระบุว่า แก๊งไชยสว่างเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการกับกรมการเงินของรัฐบาล เพื่อส่งออกสัตว์ป่ามูลค่ากว่า 11 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปยังเวียดนามและจีน หลักๆ เพื่อการบริโภค ส่วนผสมยาแผนโบราณ และเครื่องประดับตกแต่งในกรณีของงาช้าง หนังเสือ

หนังสือสัญญาดังกล่าวอนุญาตให้บริษัท ไชยสว่าง ส่งออกซากจระเข้ ลิง ลิ่น และหนังงูเหลือม 1 แสนชิ้น ตะพาบ 250 ตัน (ราว 45,000 ตัว) นก 1,000 ตัว หมา 100 ตัน และกระดูกสัตว์กว่า 20 ตัน เฉพาะในปีแรก

ที่น่าสนใจคือ ข้อตกลงดังกล่าวระบุอย่างชัดเจนว่า บริษัทต้องจ่ายภาษี 2 เปอร์เซนต์ หรือ 4 เปอร์เซนต์ ในกรณีหนังงูเหลือม เท่ากับว่ารัฐบาลลาวมีรายได้จากการค้าสัตว์ป่าซึ่งส่วนใหญ่ผิดกฎหมายถึงเกือบ 2.5 แสนเหรียญสหรัฐ

แก๊งไชยสว่างดำเนินการมาถึง 12 ปี แม้จะมีหลักฐานต่างๆ มากมายที่บ่งชี้ว่า นายวิชัย มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายใหญ่หลายคดี นายวิชัยยังมีหุ้นส่วนสำคัญคนไทยหลายคนที่ตั้งฐานอยู่ที่ จ.นครพนม เพราะเป็นจุดที่สะดวกที่สุดและใกล้ที่สุด ในการส่งสัตว์ป่าข้ามแดนผ่านลาวไปยังเวียดนาม หนึ่งในหุ้นส่วนคนไทยคนสำคัญของนายวิชัยคือ นายจำลอง ที่ไปถูกจับและติดคุก 40 ปี คดีล่าแรดที่แอฟริกาใต้เมื่อปี 2011

มูลนิธิเพื่อนป่า หรือ Freeland ติดตามความเคลื่อนไหวและพยายามเปิดข้อมูลของนายวิชัยอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่รายงานชิ้นสำคัญใน New York Times ที่นำไปสู่การที่รัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งรางวัลนำจับ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นครั้งแรกที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐตั้งรางวัลนำจับลักษณะนี้

นาย Bach Mai หรือที่รู้จักกันในชื่อบุญชัย อายุ 38 และพี่ชาย Bach Van Limh 45 เป็นคนเวียดนามที่มีฐานการทำงานอยู่ที่นครพนม มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบค้าสัตว์ป่าสำคัญหลายคดี

หลังจากนั้นนายวิชัย ก็หายตัวดำดินไป บริษัทไชยสว่างก็ปิดตัวเองไป แต่รัฐบาลลาวก็เซ็นสัญญาขนาดใหญ่กับบริษัทใหม่สองแห่งในปี 2013 สัญญาบางฉบับมีมูลค่าสูงถึง 30 ล้านเหรียญ สำหรับการส่งออกแค่เดือนเดียวของบริษัทเดียว สัญญาดังกล่าวเน้นเฉพาะสัตว์ป่าที่แพงที่สุดสามชนิดคือ เสือโคร่ง แรด และช้าง

หนึ่งในบริษัทคือ Vinasakhone Trading ได้อนุญาตให้นำเข้าและส่งออกสัตว์ป่ามูลค่า 16.9 ล้านเหรียญสหรัฐ นั่นรวมถึง งาช้าง 20 ตัน ที่มูลค่ากว่า 5 ล้านเหรียญเข้าไปแล้ว สัญญาดังกล่าวหมายถึงใบอนุญาตให้ฆ่าช้างราวๆ 3,000 ตัว ซึ่งเป็นการทำผิดอนุสัญญาไซเตสตรงๆ

ในขณะที่อีกบริษัท Vannaseng Trading ได้รับอนุญาตให้นำเข้างาช้างถึง 90 ตันมูลค่าราว 22.5 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็นช้างแอฟริกาที่ต้องถูกฆ่ามากกว่า 13,000 ตัว งาแรด 4 ตัน มูลค่า 240,000 เหรียญ หนังและกระดูกเสือโคร่ง 20 ตัน มูลค่า 1.2 ล้านเหรียญ แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ผิดกฎหมาย

น่าติดตามว่า หลังจากที่รายงานชุดนี้ถูกเผยแพร่ออกไปในช่วงที่มีการประชุมสมาชิกอนุสัญญาไซเตสที่แอฟริกาใต้ จะมีความเคลื่อนไหวอย่างไรในรัฐบาลลาว และจะสามารถติดตามผู้มีส่วนเกี่ยวข้องระดับสูง ระดับนายกรัฐมนตรี ให้แสดงความรับผิดชอบได้หรือไม่

ยังไม่นับรายชื่อหุ้นส่วนในประเทศไทยและเวียดนาม ทั้งในส่วนของข้าราชการและเอกชน ที่ล้วนมีส่วนทำให้ขบวนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้ เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้

เรียบเรียงจากรายงาน Revealed: how senior Laos officials cut deals with animal traffickers ใน the Guardian 26 September 2016

ข่าวที่เกี่ยวข้อง