ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

100 ปี สถานีรถไฟกรุงเทพ

ไลฟ์สไตล์
27 มิ.ย. 59
14:37
1,499
Logo Thai PBS
100 ปี สถานีรถไฟกรุงเทพ
19 ปี หลังมีกิจการรถไฟ สถานีกรุงเทพหรือหัวลำโพงเกิดขึ้นเป็นหัวใจการเดินทางเชื่อมเมืองหลวงสู่ภูมิภาค ย้อนไป 100 ปีที่แล้วถือเป็นอาคารโดดเด่นใจกลางพระนครนำความเจริญแบบชุมชนเมืองมาสู่พื้นที่โดยรอบ วันนี้ยังคงเป็นศูนย์กลางที่เต็มไปด้วยความทรงจำของผู้คนกับรถไฟ

หากทางรถไฟทอดรางไปถึงที่ใด ที่แห่งนั้นจะเจริญขึ้น เพราะเชื่อมเมืองหลวงกับพื้นที่ห่างไกล ขนส่งสินค้าได้สะดวกกว่าเก่า ดังมีบันทึกของกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่าหลังรถไฟไปถึงโคราช แลเห็นบ้านเรือนมุงสังกะสีแทนใบจาก ปลาย่างปลากรอบจากพระตะบองบรรทุกรถไฟลงมาขายที่กรุงเทพได้ ร่องรอยความเจริญที่เกิดขึ้นตามหัวเมืองและเรื่องราวแรกเริ่มของกิจการรถไฟไทย เล่าผ่านงาน 100 ปี สถานีกรุงเทพ ครบรอบเมื่อ 25 มิถุนายน เป็นวันแรกเปิดอาคารสถาปัตยกรรมตะวันตกขนาดใหญ่และสวยงาม แทนโรงเรือนไม้เดิมเพื่อเป็นสถานีรถไฟศูนย์กลางของประเทศ

 


"ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของล้นเกล้า รัชกาลที่ 5 ที่ทรงเล็งเห็นว่าระบบการขนส่งทางรางจะมีคุณูปการต่อการขนส่งภายในประเทศในอนาคต จึงทรงดำริให้สร้างทางรถไฟขึ้น และสถานที่แห่งนี้ก็คือสถานีที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสถานีแห่งแรกสำหรับการรถไฟแห่งประเทศไทย เรื่องคุณค่าทางประวัติศาสตร์เรียกว่ามหาศาล" วุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ย้อนให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการรถไฟไทย

 


ชื่อสถานีกรุงเทพ แต่เรียกกันติดปากว่าหัวลำโพง จากชื่อของอดีตสถานีหัวลำโพงที่อยู่ฝั่งตรงข้าม วันนี้ที่นี่ยังคงเป็นต้นทางที่มีปลายรางอยู่ในภูมิภาคต่างๆ และเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่อเนื่องจากยุคแรกเริ่มจนถึงวันนี้

 


ความคิดสร้างสถานีกรุงเทพให้สวยงามริเริ่ม ปี 2453 แล้วเสร็จปี 2459 ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียน มาริโอ ตามาญโญ ตามอิทธิพลทางศิลปะยุคเรเนซองส์ ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ส่วนโครงสร้างโถงพักผู้โดยสารและชานชาลา ออกแบบโดยเกอร์เบอร์ วิศวกรชาวเยอรมัน มีความโอ่อ่าเป็นที่หมายตาเช่นเดียวกับทางตะวันตกที่นิยมสร้างอาคารสาธารณะหรือโบสถ์ประจำเมืองให้มีขนาดใหญ่สังเกตได้ชัด ผ่านมา 100 ปี โครงสร้างต่างๆ ยังคงเดิม เป็นภาพแทนการพัฒนากิจการรถไฟที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคมบ้านเมืองในยุคนั้น

 

 

"เมื่อ 100 ปีที่แล้ว หัวลำโพงแสดงถึงเทคโนโลยีการก่อสร้าง เราไม่เคยมีโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่ขนาดนี้มาก่อน หัวลำโพงแสดงถึงความมีอารยะ เพราะตอนนั้นประเทศอยู่ในช่วงของการล่าอาณานิคมจากอังกฤษและฝรั่งเศส หัวลำโพงก็เหมือนเป็นการแสดงศักยภาพให้เห็นว่าไทย ประเทศเล็กๆ ที่อยู่ในทวีปเอเชีย ก็มีศักยภาพพอที่จะมีรถไฟ มีการขนส่งสาธารณะที่เหมือนกับประเทศที่เจริญแล้ว" ปริญญา ชูแก้ว อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวถึงคุณค่าในเชิงสถาปัตยกรรมของสถานีรถไฟแห่งแรกของไทย

 

 

นับถอยหลังอีกไม่เกิน 3 ปี ศูนย์กลางการเดินทางระบบรางจะย้ายไปยังสถานีกลางบางซื่อ และสถานีกรุงเทพหรือสถานีรถไฟหัวลำโพง จะเปลี่ยนสถานะไปสู่พิพิธภัณฑ์ของการรถไฟที่มีชีวิต ร่องรอยอดีตที่ตั้งตระหง่านผ่านกาลเวลา แสดงการพัฒนาจากจุดเริ่มสู่ปีที่ 100 เป็นมรดกสำคัญทางประวัติศาสตร์ และยังแทนความทรงจำข้ามยุคสมัย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง