ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ของเหลือไร้ค่า ที่มาคำว่า “กาก”

ศิลปะ-บันเทิง
15 มิ.ย. 59
12:55
1,578
Logo Thai PBS
ของเหลือไร้ค่า ที่มาคำว่า “กาก”
ขึ้นชื่อว่า "กาก" นอกจากหมายถึงเศษเหลือ ยังเป็นคำสแลงที่นำมาใช้กับคนไร้ค่า ไร้ประโยชน์ คำๆ นี้ไม่ใช่คำใหม่ แต่มีการใช้มาตั้งแต่ในวรรณคดี

ขึ้นชื่อว่า "กาก" นอกจากจะหมายถึงของเสีย ยังหมายถึงสิ่งไร้ค่า ทำให้คำว่ากากถูกนำมาใช้ทั้งในบริบทของคำวิเศษณ์และคำนาม

แทบจะเป็นของเหลือไร้ค่า จนบางครั้งถูกมองเป็นขยะ เรียกรวมๆว่า “กาก” ไม่ว่าจะกากอ้อย กากมะพร้าว กากน้ำตาล ดูเหมือนเป็นคำธรรมดาที่ใช้ได้ทั่วไป แต่เมื่อกากถูกนำมาใช้กับคน ความหมายกลับรุนแรงขึ้นเป็นเท่าตัว นั่นเพราะกากที่ว่า ทำหน้าที่เป็นคำสแลงเชิงดูถูก หมายถึงคนที่ด้อยค่า ไร้ฝีมือ ไร้ความสามารถ และยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีก เมื่อกากถูกนำมาซ้อนกับคำว่า เดน ที่มีความหมายไม่ต่างกัน กลายเป็น “กากเดน” หรือของเหลือที่ไม่มีใครต้องการ ที่สำคัญคำว่ากาก ไม่ใช่คำใหม่ แต่เป็นคำหยาบที่มีระบุในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลย์ เปรียบหญิงชายที่โง่และชั่ว เหมือนกากของสิ่งทั้งปวง ด้วยคำว่า “อีกากและไอ้กาก”


จักรกฤต โยมพยอม หรือครูทอม ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณคดีไทย อธิบายว่า ปัจจุบันเราใช้คำว่ากากในความหมายคล้ายกับแบบเดิม แต่ก็มีการนำมาใช้เป็นคำแสลง ด่าคนอื่นเหมือนการเปรียบเทียบว่าคนที่ทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ ไม่มีคุณภาพ ไม่สามารถใช้งานอะไรต่อได้แล้ว เรียกว่ากาก แต่จริงๆ คำนี้ปรากฏมานานตั้งแต่รัตนโกสินทร์ตอนต้น ในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี เป็นตอนที่พระฤาษีด่านางผีเสื้อสมุทรว่า “อียักษาตาโตโมโหมาก รูปก็กากปากก็เปราะไม่เหมาะเหม็ง” คือ ด่าว่าผีเสื้อสมุทรหน้าตาไม่ดี ถึงบอกว่ารูปก็กาก

เช่นเดียวกับ แสนประเสริฐ ปานเนียม รอง ผอ.สถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ที่บอกว่า ในยุคไม่กี่ปีมานี้พอมาใช้เป็นศัพท์แสลง คือคนที่มีลักษณะพฤติกรรมที่อยู่นอกมิติสังคม ไม่อยู่ในลักษณะที่ต้องการ เป็นความเหลือ คำว่ากากเมื่อนำมาใช้เป็นคำซ้อนร่วมกับคำว่าเดน เป็นกากเดน ก็เป็นคำซ้อนที่ซ้อนทางความหมาย


และแม้จะหมายถึงของเหลือ แต่กากในบางกรณีก็กลับกลายเป็นสีสันที่ช่วยเสริมเติมแต่ง อย่าง "ภาพกาก" อีกความหมายที่มีระบุไว้ในพจนานุกรม หมายถึง ภาพเขียนที่เป็นตัวประกอบในเรื่อง คล้ายลูกเล่นที่จิตรกรรังสรรค์ไว้ ทั้งในรูปของอารมณ์ขัน สิ่งสัปดน และวิถีชีวิตของผู้คน ผ่านการแสดงท่าทางอากัปกิริยาหรือกิจกรรมที่ต่างออกไป ขณะที่บางภาพสร้างความกากด้วยสีผิวคล้ำดำ หรือเครื่องแต่งกายต่างยุค

แสนประเสริฐ ให้คำอธิบายว่า ในเรื่องของจิตรกรรมไทย ภาพกากคือภาพที่เป็นส่วนนอกเหนือจากโครงเรื่องหลัก ชี้ชวนให้น่าสนใจ เพราะจิตรกรสามารถใส่ความเป็นอิสระทางความคิดกับภาพกากได้เต็มที่ เพราะไม่ถูกผูกติดกับเรื่องหลักเหมือนตัวเอก ฉะนั้นตัวภาพกากจะดึงดูดให้คนสนใจ นอกจากนี้วิถีชีวิตของคนไทยสมัยโบราณที่ไม่ได้ถูกบันทึกก็อาจอยู่ในภาพกากได้

และนี่ก็คือตัวอย่างของคำที่เกิดจากอิทธิพลของภาษา แม้ความหมายไม่เปลี่ยน แต่สามารถรังสรรค์ให้ใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง