ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พลิกปม : วิกฤตปะการังฟอกขาว ถึงคราวคนไทยต้องร่วมตระหนัก

สิ่งแวดล้อม
9 มิ.ย. 59
21:58
532
Logo Thai PBS
พลิกปม : วิกฤตปะการังฟอกขาว ถึงคราวคนไทยต้องร่วมตระหนัก
วิกฤตปะการังฟอกขาวในไทยกำลังขยายตัว ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวแล้วถึงร้อยละ 80 เหตุเพราะอุณหภูมิน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกสูงขึ้น 3 องศาเซลเซียส คาดหากไม่เร่งสร้างความตระหนักและช่วยกันดูแล ไทยอาจสูญรายได้จากการท่องเที่ยว 36,450 ล้านบาท

วันนี้ (9 มิ.ย. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปรากฎการณ์เอลนีโญตั้งแต่ปลายปี 2558 ทำให้อุณหภูมิมหาสมุทรแปซิฟิกสูงขึ้นเฉลี่ยที่ 33 องศาเซลเซียส จากเดิมที่อยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิที่สูงขึ้น 3 องศาเซลเซียส แม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์มากนั้น ในทางกลับกันมีผลต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลไม่น้อย โดยเฉพาะปรากฏการณ์ “ปะการังฟอกขาว” ซึ่งมีรายงานว่าปีนี้ (2559) จำนวนปะการังฟอกขาวเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง

ทั้งนี้ สถานการณ์ปะการังฟอกขาวในระดับวิกฤตของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน อย่างในประเทศไทยหากอุณหภูมิน้ำทะเลเกิน 30.5 องศาเซลเซียส นานสัก 2-3 สัปดาห์ ถือว่าน่ากังวล เนื่องจากปะการังจะเริ่มฟอกขาว ซึ่งสามารถตรวจสอบอุณหภูมิน้ำทะเลในแต่ละจุดได้ว่าเป็นอย่างไร ที่เว็บไซต์คอรัลรีฟ วอช

ชัดเจนว่าหลายประเทศแถบเส้นศูนย์สูตร อุณหภูมิน้ำทะเลในปัจจุบันอยู่ในระดับไม่ปกติ เพราะมีแถบสีเหลืองที่แสดงถึงอุณหภูมิของระดับน้ำสูงกว่าปกติทาบผ่าน หากแถบที่ปรากฏเป็นสีส้มไปจนถึงแดงแสดงว่าอุณหภูมิน้ำทะเลร้อนมาก ถ้าเป็นแถบสีฟ้าถือว่าอุณหภูมิปกติ

เช่นเดียวกับประเทศไทย เพราะมีแถบสีเหลืองทาบผ่านทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน ซึ่งจังหวัดที่มีปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวสูงอยู่ที่ จ.ชุมพร ขณะที่อีกหลายจุดที่แสดงให้เห็นว่า ขณะนี้สถานการณ์ปะการังฟอกขาวรุนแรงและแผ่ไปหลายพื้นที่ของทะเลไทย

ที่เป็นเช่นนั้น เพราะข้อมูลในข้างต้นที่ระบุว่าปีนี้ (2559) อุณหภูมิน้ำทะเลขยับสูงขึ้นเป็น 33 องศาเซลเซียส ทุบสถิติเมื่อปี 2553 ทำให้การฟอกขาวของปะการังเกิดขึ้นร้อยละ 80 ใน 16 จังหวัด ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน

แน่นอนว่าถ้าแนวปะการังเสื่อมโทรมหรือตายลง จากการละเลยต่อการจัดการที่เข้มงวด จะมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ที่ประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึงปีละ 36,450 ล้านบาท ซึ่งนอกจากเรื่องการท่องเที่ยวแล้ว ระบบนิเวศของสัตว์น้ำที่อาศัยแนวปะการัง ก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี เรื่องทรัพยากรธรรมชาติสร้างคุณค่ามหาศาลให้แก่ประเทศไทย แท้จริงแล้วไม่สามารถพึ่งพาให้เจ้าหน้าที่รัฐดูแลเพียงอย่างเดียวได้ หากแต่เป็นเรื่องของทุกคน ที่ต้องสร้างความตระหนักและลงมือปกป้องร่วมกัน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง