จากกรณีที่กัมพูชา เตรียมนำโขนขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การยูเนสโก ทำให้เกิดข้อถกเถียงจากหลายฝ่าย โดยแนวคิดแรกแบบอนุรักษ์นิยม มองว่าโขนเป็นศิลปะการแสดงของไทย และแนวคิดที่สอง คือโขนเป็นวัฒนธรรมร่วมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ชาติใดก็สามารถอ้างว่า เป็นศิลปะการแสดงของตนเองได้ เนื่องจากรากฐานใกล้เคียงกัน
พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า การจดทะเบียนโขนไม่ได้หมายความว่าเป็นของประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะโขนเป็นศิลปะการแสดงของทั้งภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาไทยไม่ได้เป็นสมาชิกภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมอรูป แต่กัมพูชาเป็นสมาชิกที่ให้สัตยาบันนี้แล้ว จึงเสนอให้การแสดงโขนเป็นมรดกโลกต่อองค์การยูเนสโกได้
"จดทะเบียนไม่ได้หมายความว่าเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง ก็จดทะเบียนของทุกประเทศที่มีนั่นแหละ ที่นี่ของเราก็จดช้าไปกว่าเขา เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่ค่อยได้สนใจเรื่องนี้เท่าไหร่ ก็ไม่ได้ไปสมัครชิก นั่นแหละที่เป็นปัญหาของเรา ตามไปสู่อนาคตว่าเป็นเรื่องของลิขสิทธิ์ หรือกิจกรรมการแสดงที่เป็นของไทยๆก็ต้องไปจดเอาไว้ มันไม่เหมือนกันหรอก แต่งตัวก็ไม่เหมือนแล้ว เพราะเรามีความวิจิตรในเรื่องการแต่งกาย บทร้องรำต่างๆ ไม่ใช่ว่าเปรียบเทียบว่าใครเก่งกว่าใคร มันก็ของภูมิภาคนี้ทั้งนั้นแหละ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ขณะที่นายศิริพจน์ เหล่ามานะกิจ นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี กล่าวว่า โขนเป็นศิลปะการแสดงที่ใช้ร่วมกัน ไม่เคยเป็นของกัมพูชา หรือไทย มาก่อน
ก่อนหน้านี้ อาเจนตินากับอุรุกกวัย เคยขอขึ้นทะเบียนศิลปะการเต้นแทงโก้ แต่เมื่อปี 2552 องค์การยูเนสโกประกาศว่า แทงโก้ เป็นมรดกโลกร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศ หากไทยและกัมพูชาเสนอขึ้นทะเบียนโขนทั้งคู่ อาจมีผลในลักษณะเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นปกติที่ประชาชนส่วนใหญ่จะมองว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความเป็นชาตินิยม โดยเฉพาะคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ความจริงแล้วโขนมีรากวัฒนธรรมเดียวกัน
"ส่วนใหญ่จะนำศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ที่มีลักษณะแบ่งตัวเอง กีดกันตัวเองกับเพื่อนบ้านออกจากกัน วิธีคิดทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว ทำให้ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ แยกออกจากกัน ทั้งที่ความเป็นจริงคืออันเดียวกัน คนมองว่าเป็นของที่ใช้ร่วมกันไม่ได้ ในเมื่อไม่ใช่เพื่อน ไม่ใช่พี่น้องกัน แต่เป็นศัตรูกัน วิธีคิดทางประวัติศาสตร์แบบนี้ต่างหากที่ทำให้โขนต้องถูกแยกว่า เป็นโขนไทย เป็นโขนเขมร" นายศิริพจน์กล่าว