ย้อนวันวิกฤติการณ์ รศ.112
"ถ้าหากท่านได้รับภารกิจลับพิเศษ ก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องนำมาปฏิบัติในวันนี้" คือข้อความของข้าราชการชาวเดนมาร์ก "พระยาชลยุทธโยธิน" ซึ่งส่งถึงผู้บัญชาการเรือ Pallas ของอังกฤษ เพื่อขอกำลังสนับสนุนเมื่อฝรั่งเศสส่งกองเรือเข้าประชิดปากแม่น้ำเจ้าพระยา
บันทึกของพระยาชลยุทธโยธิน ปลัดทหารเรือใหญ่ ที่ได้บันทึกไว้ในวิกฤติการณ์ รศ. 112 ถอดความโดย พล.ร.อ.วรงค์ ส่งเจริญ ผู้สนใจประวัติศาสตร์ไทยยุคล่าอาณานิคม แม้ถูกถอดความได้เพียง 1 ใน 10 ส่วนของเอกสารภาษาเดนมาร์กกว่า 300 หน้า หากให้ภาพ และแง่มุมทางประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับวิกฤติการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่ออธิปไตยของสยามในครั้งนั้นได้เป็นอย่างดี
เหตุปะทะกันระหว่างฝรั่งเศส และสยามเกิดที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า อันเป็นผลมาจากการพยายามแสวงหาอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก นับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 ฝรั่งเศสได้เข้าครอบครองเวียดนาม, ลาว และกัมพูชา หรือที่เรียกว่า "อินโดจีน" พร้อมกันนี้ ยังหวังครอบครองดินแดนที่อยู่ในอำนาจของสยาม เป็นผลให้มีการใช้ "นโยบายการทูตแบบเรือปืน" เพื่อกดดัน
บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่ตั้งของป้อมพระจุลจอมเก้า ที่เมื่อ 118 ปีที่แล้ว มีโอกาสได้รับใช้ประเทศชาติอย่างสมเกียรติในวิกฤติการณ์ รศ. 112 จึงเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ในเรื่องการรักษาอธิปไตยบนแผ่นดินไทย ในยุคล่าอาณานิคม
เพียงครึ่งชั่วโมงที่หมู่เรือรบฝรั่งเศสกับทัพเรือไทยปะทะกันที่ปากอ่าวสยาม ในเย็นวันที่ 13 กรกฎาคม 2436 ฝ่ายไทยตั้งรับอย่างกำลังด้วยปืนเสือหมอบหรือปืนใหญ่อาร์มสตรอง ที่ใช้ประจำการในป้อมพระจุลจอมเกล้า 7 กระบอก หากแต่ไม่สามารถต้านแสนยานุภาพทางเรือของฝรั่งเศสได้ แม้ผลจะจบลงด้วยความสูญเสียของทั้ง 2 ฝ่าย แต่สยามต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามถึง 3 ล้านฟรังค์ และเป็นจุดเริ่มทำให้ไทยเสียอำนาจบนดินแดนบางส่วนที่เคยมีมา
วิกฤติการณ์ รศ. 112 ไม่เพียงเป็นเครื่องเตือนใจ ให้เห็นถึงความหมายของการรักษาอำนาจอธิปไตยในยุทธการที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ยังทำให้เห็นถึงที่มาของปัญหาจากการขีดเส้นแบ่งระหว่างสยามกับเพื่อนบ้าน ที่ลุกลามจนกลายเป็นความกระทบกระทั่งระหว่างไทยกับกัมพูชาถึงปัจจุบัน ซึ่งหากย้อนศึกษาให้ลึกซึ้งก็อาจทำให้เห็นได้ว่า แท้จริงปัญหาอาจไม่ได้มาจากประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น หากแต่เป็นอดีตชาติมหาอำนาจจากแดนไกล