ย้อนรอยเหตุการณ์น้ำท่วม “หาดใหญ่” ปี 2531 และ 2543
เหตุการณ์น้ำท่วมที่สร้างผลกระทบอย่างมากแก่ประชาชนและธุรกิจในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2531 ครั้งต่อมาในปี 2543 และ ล่าสุดได้แก่สถานการณ์อุทกภัยที่หลายจังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
อำเภอหาดใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา ซึ่งครอบคลุมอาณาบริเวณรวม 2,400 ตารางกิโลเมตร โดยลักษณะเป็นแอ่งกะทะ พื้นที่ลาดเทจากทิศใต้สู่ทิศเหนือ บริเวณตอนปลายของลุ่มน้ำจะเป็นที่ราบลุ่มแผ่กว้างก่อนถึงทะเลสาบสงขลา มีคลองอู่ตะเภาเป็นคลองระบายน้ำหลัก และประกอบด้วยลุ่มน้ำย่อยรวม 17 ลุ่มน้ำ
คลองอู่ตะเภา เป็นคลองธรรมชาติที่สามารถรับน้ำได้เพียง 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเท่านั้น เมื่อเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำ เกิน 120 มิลลิเมตรในระยะเวลา 3 ชั่วโมง น้ำจะเคลื่อนตัวจากพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนเข้าสู่เทศบาลนครหาดใหญ่ภายใน 10-30 ชั่วโมง และทำให้เกิดสภาพน้ำล้นตลิ่งคลองอู่ตะเภาบริเวณเทศบาลนครหาดใหญ่
ในปี 2531 อุทกภัยในลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา สร้างความเสียหายแก่พื้นที่ประมาณ 250 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของพื้นที่ ประเมินมูลค่าความเสียหายกว่า 4 พันล้านบาท
ปี 2543 พื้นที่น้ำท่วมขยายเป็นกว่า 320 ตารางกิโลเมตร มูลค่าความเสียหายพุ่งสูงขึ้นเป็น 18,000 ล้านบาท และยังทำให้มีประชาชนเสียชีวิตถึง 30 คน แม้พื้นที่ส่วนใหญ่ราวร้อยละ 80 ที่ถูกน้ำท่วมจะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม แต่การเกิดอุทกภัยในพื้นที่ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการค้าอย่างเทศบาลนครหาดใหญ่ก็ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสังคมของภาคใต้ตอนล่าง
หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ปี 2543 รัฐบาลได้จัดทำแนวทางการแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยแบบบูรณาการและยั่งยืน 2 มาตรการ คือ มาตรการใช้สิ่งก่อสร้าง และไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง โดยมาตรการใช้สิ่งก่อสร้างเริ่มด้วยจัดทำพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ปิดล้อม ปรับปรุงทางน้ำธรรมชาติ สร้างอ่างเก็บน้ำ และจัดสร้างคลองผันน้ำ 6 คลอง โดยคลองระบายน้ำ ร.1 มีความยาว 28 กิโลเมตร เป็นคลองที่ยาวที่สุดและจะทำหน้าที่ผันน้ำจากคลองอู่ตะเภาไปทะเลสาบสงขลา เมื่อเกิดน้ำท่วมในอำเภอหาดใหญ่ ซึ่งจะสามารถรับน้ำได้ประมาณ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ขณะที่คลองอู่ตะเภาสามารถรับน้ำได้ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนคลอง ร.2 - ร.6 ก็ทำหน้าที่ระบายน้ำออกสู่ทะเลสาบสงขลาได้เช่นกัน ซึ่งแม้มาตรการแก้ปัญหาด้วยสิ่งก่อสร้างจะดำเนินการมากว่าร้อยละ 80 แล้ว แต่ขณะนี้ก็มีการก่อสร้างบ้านและอาคารต่างๆ ในพื้นที่หวงห้าม ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ปิดล้อม ที่ไม่ควรมีสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ
ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 16 ซึ่งดูแลพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก บอกว่า แม้จะมีระบบระบายน้ำด้วยคลองอู่ตะเภา และคลอง ร.1-ร.6 แต่ปีนี้ ก็ยังเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ที่อำเภอหาดใหญ่อีกครั้ง เพราะคลองอู่ตะเภาและคลองย่อยทั้งหมด สามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลสาบสงขลาได้เต็มที่ 1,075 ลูกบาศ์กเมตรต่อวินาที แต่ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ตลอด 3 วันที่ผ่านมา ส่งผลให้มีน้ำไหลส่งมามากกว่า 1,600 ลูกบาศ์กเมตรต่อวินาที ซึ่งมากกว่าน้ำที่ไหลลงมาท่วมเมืองหาดใหญ่เกือบเท่าตัว ขณะนี้ปริมาณน้ำยังคงทรงตัว และคาดว่าต้องใช้เวลาอีก 2-3 วัน กว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายลง