ลวดลายตามขวางที่เกิดจากการใช้ไหมควบสองสี ทอให้เด่นอยู่บนสีพื้นผ้านุ่ง เป็นลักษณะเฉพาะของลายอันลุยซีม 1 ใน 6 ลายพื้นฐานที่ชาวบ้านโพธิ์กอง จ.สุรินทร์ ร่วมกันฟื้นฟูเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ไม่เพียงรักษาเทคนิคช่างทอโบราณ แต่ยังนำลวดลายต่างๆ อย่างอัมปรม ลายสมอ และลายโฮล ต้นแบบลายผ้าของชาวเขมรถิ่นไทย มาประยุกต์ลงบนผ้าไหมมัดหมี่ในโครงการพัฒนาอาชีพกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านโพธิ์กอง ที่นี่เป็นทั้งโรงทอ โรงเลี้ยงไหม และศูนย์สาธิตภูมิปัญญาที่สืบทอดอยู่ในชุมชน ที่ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้มั่นคงขึ้น พร้อมรักษาเอกลักษณ์ผ้าทอพื้นเมือง จากเคยเหลือคนทอผ้าอยู่ไม่กี่ครอบครัว และในหมู่บ้านเลิกปลูกหม่อนเลี้ยงไหมไปแล้ว
คำพอง เชื้อจันทร์ ครูภูมิปัญญาผ้าทอพื้นเมือง จ.สุรินทร์ เผยว่า "การทอผ้านี้สืบทอดกันมานาน จากแต่ก่อนนี้ใช้มือทั้งหมด ไม่ต้องไปซื้อที่ไหน ทอผ้าเองแล้วเย็บเองด้วย เราต้องทำเป็นหมดทุกลาย"
บุญจันทร์ จำนงเพียร รองประธานศูนย์กลางชุมชน กล่าวว่า "สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอสุรินทร์ คือลวดลายที่ไม่เคยเปลี่ยน ในผ้ารุ่นใหม่ๆ ที่ประยุกต์มาอาจมีการเพิ่มสีสันและผสมลาย แต่ของเดิมยังอยู่ฟื้นขึ้นมา"
เดิมมวนหรือต้นหม่อนสำหรับเลี้ยงไหมนั้น ชาวบ้านเรียกว่าเป็นไม้มงคลเรียกทรัพย์ ส่วนหนึ่งก็มาจากให้เส้นไหมสีเหลืองทอง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทอผ้า การทำไหมและการทอผ้าที่ครบทุกขั้นตอนอยู่ในศูนย์กลางชุมชนแห่งนี้ นอกจากทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้ว ก็ยังได้ฝึกฝนเรื่องของภาษาไปพร้อม ๆ กันด้วย โดยหนอนไหม เรียกว่า"โกนเนียง" และ ใบหม่อน เรียกว่า"สะเรอะมวน"
เพียงได้สัมผัสวงจรชีวิตของตัวไหม ตั้งแต่ระยะฟักตัวไปจนนำขึ้นจ่อหรือรังไม้ ที่ทำไว้ให้ตัวไหมเกาะชักใยสร้างรัง ก่อนสาวเส้นไหมจากรังที่ได้เข้าสู่กระบวนการทอผ้า ทำให้เด็กๆ พบคำตอบที่เคยสงสัยว่าผ้าไหมสีสันสวยงาม มาจากหนอนไหมได้อย่างไร ยิ่งเมื่อทดลองเลี้ยงไหมพร้อมซึมซับงานทอจากคนรุ่นก่อนผ่านภาษาถิ่น ยิ่งช่วยฝึกฝนทักษะภาษาที่ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์ จนมีหลักสูตรสอนในโรงเรียน ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมชุมชนเขมรถิ่นไทย
สิทธิชัย สุวรรณดำ เยาวชนเชื้อสายเขมรถิ่นไทย จ.สุรินทร์ เล่าว่า "การที่ได้มาเรียนรู้จากศูนย์ก็ได้เห็นว่าผ้าไหมทำมาจากอะไร และเราก้ได้พูดภาษาไทยบ้าง และภาษาถิ่นบ้างก็ได้ฝึกควบคู่กันไป"
เขียว ชมหมื่น ครูภูมิปัญญาผ้าทอพื้นเมือง จ.สุรินทร์ กล่าวว่า "เราจะสอนเขาเป็นภาษาถิ่น เขาสงสัยว่าอันนั้นเรียกว่าอะไรอันนี้เรียกว่าอะไรเราก็จะบอก ส่วนใหญ่เด็กๆ เขาชอบก็มาขอช่วยเลี้ยง ก็ได้เห็นว่ากว่าจะได้ไหมมันมีขั้นตอนเช่นไร"
ผ้าไหมพื้นเมืองสุรินทร์ เกิดจากองค์ความรู้ที่สั่งสมอยู่ในชาติพันธุ์เขมร ลาว กูย แต่แตกต่างที่เทคนิคการทอ สี และลาย ซึ่งผ้าไหมมัดหมี่ของเขมรถิ่นไทย เช่นผ้าไหมของชาวบ้านโพธิ์กอง ได้รับยกย่องว่าโดดเด่นสวยงาม จากความกลมกลืนของลวดลายสีสัน ที่มาจากสีย้อมที่มีในธรรมชาติ และการคงเทคนิคการทอแบบโบราณ ผ้าทอพื้นเมืองที่ฟื้นฟูมาสู่การพัฒนาอาชีพ โดยเปิดเป็นศูนย์กลางเรียนรู้ชุมชน นอกจากรักษามรดกภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ยังช่วยให้เยาวชนใกล้ชิดกับวัฒนธรรมถิ่นของตนมากขึ้น