ภายหลังจากมติที่ประชุมสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2555 ได้กำหนดให้วันที่ 20 มีนาคม ของทุกปีเป็นวัน "ความสุขสากล" หรือ The International Day of Happiness โดยมีแนวคิดริเริ่มมาจากต้นแบบความคิดของประเทศภูฏาน ซึ่งเป็นประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลก และติดอับดับที่ 1 ในการวัดความรุ่งเรืองของชาติและความสำเร็จทางสังคม หรือดัชนีมวลรวมความสุข หรือ Gross National Happiness Index (GNH) โดยที่การวัดค่าดังกล่าวไม่ได้นำการใช้เศรษฐกิจ หรือความร่ำรวยทางวัตถุมาเป็นตัวตัดสินการพัฒนา แต่กลับหันมามองแบบองค์รวมว่าจิตใจที่ดีของประชาชนและชุมชนนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าวัตถุ
ทั้งนี้ การกำหนดวันดังกล่าวขึ้นนั้น "ยูเอ็น" มีวัตถุประสงค์ 2 ข้อ คือ เพื่อให้ทุกคนร่วมเฉลิมฉลอง และตระหนักถึงความสุขอันเป็นเป้าหมายพื้นฐานของมนุษยชนรวมถึงแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตของมนุษย์ และเพื่อเรียกร้องให้แต่ละประเทศผลักดันและเข้าถึงนโยบายสาธารณะที่จะเพิ่มความสุขให้แก่ประชาชนทุกๆ
โดยสหประชาชาติได้มุ่งเป้าไปที่ความสนใจของโลกต่อแนวคิดในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจว่าจะต้องประกอบไปด้วย การรวบรวม ความเสมอภาค และสมดุลเช่นเดียวกับการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน และบรรเทาความยากจนนอกจากนี้สหประชาชาติยังระบุว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจจะต้องมาพร้อมกับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้บรรลุความสุขของโลก
อีกทั้ง ยูเอ็นยังได้สำรวจวัดระดับความสุขใน 156 ประเทศทั่วโลกโดยมีปัจจัยความสุขที่สำคัญ เช่น รายได้ การมีงานทำ ความสัมพันธ์ที่ดีความไว้วางใจกันในชุมชน การมีค่านิยมที่เอื้อต่อความสุขและศาสนา สุขภาพกายสุขภาพจิต ความสัมพันธ์ในครอบครัว การศึกษา เสรีภาพทางการเมืองความเข้มแข็งของเครือข่ายสังคม การไม่มีคอร์รัปชั่น และความเท่าเทียมทางเพศและสังคมเป็นต้น มาเป็นตัวชี้วัดความสุขของประเทศต่าง ๆ อีกด้วย
แท็กที่เกี่ยวข้อง: