ราชบัณฑิต เล็งแก้คำศัพท์ภาษาไทยที่ยืมมาจากภาษาอังกฤษ
นางกาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต และนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้กองศิลปกรรมได้จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นประมาณ 300 ชุด เกี่ยวกับการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 เพื่อสอบถามความเห็นจากคณะกรรมการราชบัณฑิต ภาคีสมาชิก และผู้ที่เกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงการเขียนคำที่ยืมจากภาษาอังกฤษใหม่ เนื่องจากพบว่ามีคำศัพท์ที่ยืมมาจากคำภาษาอังกฤษ 176 คำ เขียนผิด และไม่ตรงกับเสียงวรรณยุกต์ของคำนั้นๆ ตามอักขรวิธีไทย และการอ่านออกเสียง ทำให้เกิดความสับสน และอ่านไม่ออก ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากขั้นตอนการถอดคำ หรือ ยืมคำมาจากภาษาอังกฤษ เมื่อแปลมาเป็นภาษาไทย ไม่ได้เติมวรรณยุกต์เสียงเอก โท หรือตรี รวมทั้ง ไม้ไต่คู้ ให้ตรงตามอักขรวิธีไทย โดยคำศัพท์ที่อยู่ในแบบสำรวจ เพื่อขอความเห็นในการเปลี่ยนแปลงการเขียนใหม่ มีดังนี้
1.คำที่ใส่เครื่องหมายไม้ไต่คู้เพื่อแสดงสระเสียงสั้น เช่น ซีเมนต์ เปลี่ยนเป็น ซีเม็นต์, เทนนิส-เท็นนิส , แบคทีเรีย-แบ็คทีเรีย, เบนซิน-เบ็นซิน , อิเล็ก ตรอน-อิเล็กตร็อน
2.คำที่เปลี่ยนตัวพยัญชนะเป็นอักษรสูง เช่น คอร์ด-ขอร์ด, ซัลเฟต-ซัลเฝต , ไนต์คลับ-ไน้ต์ขลับ, แฟลต-แฝล็ต , สเปกโทร สโกป - สเป็กโทรสโขป
3.คำที่ใส่เครื่องหมายวรรณยุกต์เอก เช่น กอริลลา-กอริลล่า ,แคลอรี-แคลอรี่ ,เทคโนโลยี-เท็คโนโลยี่, ปิโตรเลียม-ปิโตรเลี่ยม ,อะลูมิเนียม-อะลูมิเนี่ยม
4.คำที่ใส่ “ห” นำเพื่อแสดงเสียงวรรณยุกต์เอก เช่น กะรัต-กะหรัต , แกรนิต-แกรหนิต , คลินิก-คลิหนิก , คาทอลิก-คาทอหลิก ,คาร์บอเนต-คาร์บอเหนต
5.คำที่เติมเครื่องหมายวรรณยุกต์โท เช่น กลูโคส-กลูโค้ส , กิโลเมตร-กิโลเม้ตร ,คาร์บอน-คาร์บ้อน , แทรกเตอร์-แทรกเต้อร์, เมตร-เม้ตร
6.คำที่เติมเครื่องหมายวรรณยุกต์ตรี เช่น เกาต์-เก๊าต์, บาสเกตบอล-บ๊าสเก้ต บอล ,แบงก์-แบ๊งก์, ปิกนิก-ปิ๊กหนิก ,ปลาสเตอร์-ปล๊าสเต้อร์
7.คำที่มีหลายพยางค์ เช่น คอนแวนต์-ค็อนแว็นต์ ,คอมพิวเตอร์-ค็อมพิ้วเต้อร์ ,ดีเปรสชัน-ดีเปร๊สชั่น, แบดมินตัน-แบ็ดมินตั้น, อัลตราไวโอเลต-อัลตร้าไวโอเหล็ต
ทั้งนี้ต้องรอดูผลการสำรวจความคิดเห็นอีกครั้งว่าส่วนใหญ่จะเห็นด้วยทุกคำ หรือเห็นด้วยเฉพาะบางคำ ซึ่งหากเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าควรเปลี่ยน ก็จะนำไปบรรจุในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ที่กำลังดำเนินการปรับปรุง เพื่อจัดพิมพ์เล่มใหม่ โดยเชื่อว่า การเปลี่ยนวิธีการเขียนคำศัพท์ จะไม่ทำให้เกิดความสับสน เนื่องจาก คำศัพท์หลายคำในปัจจุบัน มีคนเขียนตามคำศัพท์ที่จะเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่ถ้าต้องการเขียนแบบเดิมไม่ผิดอะไร