ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ลักษณ์อาลัย" อีกหนึ่งผลงานของ "อุทิศ เหมะมูล" เข้าชิงซีไรต์ปีนี้

Logo Thai PBS
"ลักษณ์อาลัย" อีกหนึ่งผลงานของ "อุทิศ เหมะมูล" เข้าชิงซีไรต์ปีนี้

การันตีด้วยรางวัลซีไรต์ปี 2552 ผลงานของ "อุทิศ เหมะมูล" เข้ารอบชิงนวนิยายอีกครั้งยังคงใช้ฉากบ้านเกิดที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เล่าเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน เช่น พ่อกับลูก พี่กับน้อง สะท้อนเงื่อนปมสำคัญใน ลักษณ์อาลัย 1 ใน 7 เรื่องที่เข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ในปีนี้

เดินเรื่องซับซ้อนโดยแบ่งเนื้อหาเป็นสองส่วนเล่าบันทึกในพงศาวดารถึงความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องกษัตริย์ที่ฝีมือรบของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าตากสินน้อยกว่ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ผู้เป็นน้อง หากภายหลังผู้พี่กลับเป็นฝ่ายเถลิงราชสมบัติ ขณะที่ผู้น้องได้ดำรงยศพระมหาอุปราช

ควบคู่ไปกับรอยร้าวในใจของวัฒที่ต้องสานอาชีพช่างยนต์ของพ่อ เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้เรียนต่อด้านศิลปะ ด้วยเหตุผลเพียงว่า อุทิศ พี่ชายของเขาได้เลือกเส้นทางด้านนี้ไปแล้ว

ปมปัญหาระหว่างคนร่วมสายเลือดทั้งชนชั้นสูง และ สามัญชน คือประวัติศาสตร์ และประสบการณ์ตรงของอุทิศ เหมะมูล ถ่ายทอดในนวนิยาย ลักษณ์อาลัย เล่าเนื้อหาที่มีความสมจริงให้กลายเป็นเรื่องแต่ง เน้นย้ำแนวคิดเดิมจากลับแลแก่งคอย นวนิยายรางวัลซีไรต์ในปี 2552 ของเขา ที่เชื่อว่า ในทุกเรื่องเล่าล้วนเต็มไปด้วยความลวง

ใน ลับแลแก่งคอย อุทิศนำชื่อคุณแม่ของเขามาใช้เป็นชื่อตัวละคร เพราะความคล้ายคลึงกันทางลักษณะและอุปนิสัยของตัวละคร แต่ใน ลักษณ์อาลัย ตัวเอกของเรื่องมีชื่อว่า อุทิศเช่น เดียวกับผู้เขียน เป็นเทคนิคที่เขาใช้เพื่อให้ผู้อ่านฉุกคิดว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องจริง หรือ เรื่องแต่ง ช่วยเพิ่มอรรถรสในการอ่านให้มากยิ่งขึ้นครับ

แม้เนื้อเรื่องหลักยังคงเล่าถึงความสัมพันธ์แตกร้าวระหว่างคนในครอบครัวเดียวกัน โดยมีเมืองแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เป็นฉากหลัง จนเปรียบเหมือนเป็นภาคต่อของลับแลแก่งคอย หากการสืบค้นประวัติศาสตร์สมัยพระเจ้าตากสินอย่างจริงจัง ประกอบกับทำอาชีพเสริมคืองานพิสูจน์อักษรที่ต้องอ่านหนังสือหลากหลายตั้งแต่นิยายรักเกาหลี จนถึงหนังสืองานศพ คือความรู้ที่อุทิศนำมาประยุกต์ใช้กับลักษณ์อาลัย โดยยึดรูปแบบของหนังสืองานศพ ที่ผนวกเรื่องปกิณกะ เช่นพงศาวดาร เข้ากับเรื่องเล่าเหตุการณ์ในงานศพของพ่อของเขา ที่เปรียบให้เป็นอัตชีวประวัติของผู้ตาย ไม่เพียงเสริมให้กลวิธีการเล่าเรื่องโดดเด่นยิ่งขึ้น หากยังหวังให้นวนิยายเล่มนี้ทำอีกหน้าที่ แสดงความอาลัยและสดุดีพ่อผู้เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือของเขา ที่จากโลกนี้ไปแล้ว 15 ปี

นอกจากจะช่วยเติมเต็มช่องว่างในใจจากการสูญเสียพ่อ ลักษณ์อาลัย ยังเป็นนิยายที่ อุทิศ ได้ทดลองเล่าเรื่องโดยการรวมวรรณกรรมหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน ก่อนค้นพบว่า ถึงจะพยายามให้เป็นเรื่องจริงเพียงใด เรื่องเล่าไม่อาจสะท้อนความจริงที่แท้ออกมาได้ อุทิศ จึงยกให้ ลักษณ์อาลัย เป็นผลงานที่เป็นความภาคภูมิใจในชีวิต และเปรียบให้เป็นจดหมายรักเพื่อบอกความรู้สึกของเขาที่มีต่อร้อยแก้วเมืองไทย    


ข่าวที่เกี่ยวข้อง