ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สพฉ. ร่วมใช้ "ศูนย์ดอนเมือง 84" ปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน รับมือภัยพิบัติ

สังคม
7 ต.ค. 54
16:54
35
Logo Thai PBS
สพฉ. ร่วมใช้ "ศูนย์ดอนเมือง 84" ปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน รับมือภัยพิบัติ

สพฉ. ประกาศใช้ศูนย์ดอนเมือง 84 จัดระบบบูรณาการด้านการแพทย์ฉุกเฉินสำรองรถ-เรือ-ฮ. พร้อมออกปฏิบัติการ ประสาน รพ.พื้นที่กทม.เตรียมรับการส่งต่อ เสนอพื้นที่รพ.ตะวันตก แผนสองรองรับผู้ป่วยฉุกเฉิน

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงพยาบาลในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งภาครัฐและเอกชน เครือข่ายมูลนิธิ สภากาชาดไทย ร่วมประชุมหารือเพื่อเตรียมรับมือด้านการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อรองรับการเกิดภาวะภัยพิบัติ โดยใช้บริเวณสถานีดับเพลิง สนามบินดอนเมือง เป็นศูนย์บูรณาการประสานการปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินตอบโต้ภัยพิบัติแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ
84 พรรษา (ศูนย์ดอนเมืองฯ84) เพื่อเตรียมรับมือด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และรองรับการเปิดศูนย์บัญชาการผู้ประสบภัยน้ำท่วมของนายกรัฐมนตรีด้วย

นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า การหารือในวันนี้เป็นการเตรียมรับมือภัยพิบัติน้ำท่วมใน 2 ประเด็น คือ หาวิธีการว่าจะทำอย่างไรเพื่อช่วยเหลือด้านการแพทย์ในพื้นที่วิกฤติ การจัดระบบลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉิน และหามาตรการในการเตรียมรับมือด้านการแพทย์หากกรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วม สำหรับศูนย์บูรณาการด้านการแพทย์ฉุกเฉินฯ จะใช้เป็นศูนย์บัญชาการ
และเป็นจุดส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน เนื่องจากเป็นพื้นที่เหมาะสม อยู่ในพื้นที่สูง สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศยาน ทั้งในส่วนของเฮลิคอปเตอร์ และเครื่องบินซี130 ในกรณีที่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจำนวนมาก  เพื่อส่งต่อทางรถพยาบาลไปยังโรงพยาบาลพื้นที่ใกล้เคียงได้ รวมทั้งหากสถานการณ์รุนแรงจะใช้เป็นพื้นที่ตั้งของหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน โดยเบื้องต้นได้สำรองเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ รถพยาบาล 20 คัน และเรือ 5 ลำ เพื่อพร้อมปฏิบัติงานทันที

"สำหรับการประเมินในขณะนี้ มีพื้นที่เสี่ยง 8 จังหวัด คือ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ รพ.สิงห์บุรี รพ.อ่างทอง รพ.ลพบุรี รพ.อุทัยานี รพ.ชัยนาท และรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี โดยเบื้องต้นได้ประสานและตรวจสอบจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินแล้ว โดยเฉพาะรพ.อยุธยา ที่มีผู้ป่วยหนักกว่า 70 ราย ซึ่งหากจำเป็นต้องส่งต่อผู้ปวย โรงพยาบาลในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง ทั้งในส่วนของรัฐและเอกชน ก็ได้เตรียมพร้อมแล้วเช่นกัน คือ สำรองเตียง ออกซิเจน โดยใช้แผนรับมือคล้ายกับเมื่อตอนเกิดเหตุความไม่สงบทางการเมืองที่ผ่านมา ส่วนการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินขณะนี้ รพ.อยุธยา เริ่มมีการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินแล้ว ซึ่งสถานการณ์ต่อไปจะต้องประเมินกันวันต่อวัน" นพ.ชาตรีกล่าว
  
 ด้าน นพ.ฉัตรบดินทร์ เจตนะศิลปิน หัวหน้าหน่วยแพทย์กู้ชีพ คณะแพทย์ศาสตร์ วชิระพยาบาล กล่าวว่า นอกจากการเตรียมรับมือส่งต่อมาในพื้นที่กรุงเพทฯ แล้ว เราจะต้องมีแผนสองในการรองรับผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งจากการประเมินพบว่าโรงพยาบาลที่ปลอดภัยคือพื้นที่เขตตะวันตก อาทิ รพศ.ราชบุรี เพราะโรงพยาบาลในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่เสี่ยงไม่เหมาะที่จะส่งต่อผู้ป่วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง