แม้จะยืนยันยังไม่มีการปรับตามที่เคยประกาศไว้ หากจะมีขยับอะไร ต้องมีการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลก่อน หลังจากแกนนำทั้งในพรรคและนอกพรรค ต่างพยายามประสานเสียงตรงกัน ปฏิเสธเรื่องปรับ ครม.หลายวันต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนคนทั่วไปยังไม่ปักใจเชื่อสักเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งมองว่าเป็นการซื้อเวลา เพื่อเจรจาต่อรองประสานประโยชน์กันต่อไป ทำนอง บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่นเสียมากกว่า
เพราะด้วยจากหลายปัจจัยรุมเร้า และสถานการณ์การเมืองทั้งพรรคเพื่อไทยเอง และกับพรรคร่วมรัฐบาล กระทั่งกูรูการเมืองฟันธงว่า ไม่พ้นต้องเรื่องปรับ ครม. เพียงแค่จะปรับเล็กภายในแต่ละพรรคก่อน หรือจะปรับใหญ่ทีเดียว ซึ่งอาจหมายถึงการสลับเก้าอี้แลกกระทรวงในพรรคร่วมรัฐบาล
ที่จริงคนเก๋าเกมอย่างนายทักษิณ ชินวัตร น่าจะทราบดีที่สุด เพราะเคยพูดสะท้อนนัยต้องปรับ ครม. ตั้งแต่ก่อนหน้าศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลด้วยซ้ำ ถึงขั้นเปรยว่ามี “รมต.รำวง” ป้อไปป้อมา บริหารงานไม่ดี ขาดความเด็ดขาด ฉับไว
และอีกครั้งที่พูดถึงสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน เทียบกับช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์ โดยย้ำว่า ประเทศไทยตอนนี้ แก้ยากกว่าแก้ต้มยำกุ้ง เพราะฐานรากพังหมดแล้ว แต่กรณี “ต้มยำกุ้ง” แค่ยอดพัง แต่ฐานรากยังอยู่
แต่เมื่อนายกฯ ที่เป็นลูกสาวให้สัมภาษณ์สื่อ “จะยังไม่ปรับครม.” หวังให้รัฐมนตรีได้มีโอกาสทำงานต่อเนื่องก่อน จึงต้องโอนอ่อนตาม แต่หลังจากผ่านไปแล้ว 1 เดือน นับจากเสร็จศึกซักฟอก ก็ไม่มีส่อเค้าว่าจะดีขึ้น
นโยบายแจกเงินหมื่น ไม่อาจสร้างพายุหมุนด้านเศรษฐกิจอย่างที่คาดหวังได้ ราคาข้าวและพืชผลการเกษตรตกต่ำ นโยบายปรับขึ้นค่าแรง และนโยบายเศรษฐกิจอื่น ๆ อย่างสถานบันเทิงครบวงจรที่มนุษย์สร้างขึ้นและมีกาสิโนรวมอยู่ด้วย เดินหน้าต่อไม่ได้
ประกอบกับมาตรการกำแพงภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่แม้แต่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลัง หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ยังเห็นว่าจะกระทบจีดีพีประเทศถึง 1 % ยิ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งหาทางรับมือ เพราะจะสะเทือนต่อผู้ส่งออก ผู้ใช้แรงงาน และประชาชนที่มีกำลังจับจ่ายใช้สอยน้อยอยู่แล้ว
ดังผลในนิด้าโพล ที่ประชาชนเห็นว่า ควรปรับรัฐมนตรีโดยเร็ว ถึง 48.24 % ในจำนวนนี้เห็นควรให้ปรับรัฐมนตรีพาณิชย์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ถึง 57 % ต่อ 41.6 % ตามด้วยกระทรวงเกษตรฯ น.ส.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พรรคกล้าธรรม 48.5 % ต่อ 49.4 % แม้ที่เห็นไม่ควรปรับจะมากกว่า แต่แค่ไม่ถึง 1 %
อันดับ 3 กระทรวงการคลัง นายพิชัย ชุณหวชิร 46.5 % ต่อ 51.9 % มิหนำซ้ำ อันดับ 5 ยังเป็นกระทรวงด้านเศรษฐกิจ คือ ก.แรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ พรรคภูมิใจไทย 43.8 % ต่อ 54 % เท่ากับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล ไม่มีผลงานที่เข้าตาประชาชน
ไม่ต่างจากสวนดุสิตโพล เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ผลสำรวจระบุชัดเช่นกันว่า ประชาชนกำลังเดือดร้อนเรื่องเศรษฐกิจมากที่สุด จากค่าครองชีพสูง กำลังซื้อไม่เพียงพอ มากถึง 82.9 % นอกจากนี้ ยังเห็นว่า มาตรการแก้เศรษฐกิจของรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ สูงถึง 69.5 % และยังเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาโดยด่วน ถึง 76.5 %
จึงเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับกระแสเรียกร้องให้นายกฯ ปรับเปลี่ยน ครม.ด้านเศรษฐกิจเสียใหม่ ของแกนนำและสส.ส่วนหนึ่งในพรรคเพื่อไทย
หลังจากได้รับมอบหมายจากนายกฯ ในการประชุมพรรคเมื่อไม่กี่วันก่อน ให้ลงพื้นที่ไปทำคว่ามเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เรื่องสถานบันเทิงครบวงจร รวมกาสิโน ว่า จะดีต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างไร แต่เมื่อลงพื้นที่จริง กลายเป็นเจอเสียงบ่นจากคนในพื้นที่ ให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาปากท้อง รายได้ ค่าครองชีพ ให้ผู้คนมีงานทำเสียก่อน
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แกนนำสส.และคนในพรรคเพื่อไทย ทั้งนายวิสิทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ อดีต สส.พะเยา หรือนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการ ฝ่ายการเมือง อดีต สส.อุบลฯ พูดสอดคล้องกัน เรื่อง สส.สะท้อนปัญหาจากพื้นที่เรื่องพืชผลทางการเกษตรราคาตกต่ำ โดยเฉพะอย่างยิ่ง ราคาข้าวนาปรังและมันสำปะหลัง และเห็นตรงกันกับนิด้าโพล ว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีพาณิชย์ และรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจกระทรวงอื่น ๆ
สอดคล้องข้อความในในไลน์กรุ๊ปสส.พรรคเพื่อไทย ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และตำหนิการทำหน้าที่ของนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อย่างอึงมี่ และยังไม่เคยชี้แจงแนวทางแก้ปัญหาของเกษตรกรและประชาชนที่เดือดร้อนให้กับ สส. ที่ต้องอยู่ในพื้นที่และยึดโยงกับประชาชน แต่อย่างใดเลย แม้ว่าส่วนหนึ่ง อาจเล็งเห็นผลจากได้ลุ้น”ส้มหล่น-ถึงคิว”ได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีก็ตาม
นี่จึงเป็นความแตกต่างระหว่างแกนนำและผู้บริหารพรรค รวมทั้งรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองอื่น ที่ต่างดาหน้าปฏิเสธ ไม่ใครกดดันนายกฯให้ปรับเร่ง ครม. เพราะไม่ได้อยู่ในพื้นที่เหมือนกับสส. และยังโยนไปที่สื่อว่า เป็นต้นตอของการปลุกปั่นข่าวเรื่องปรับคณะรัฐมนตรี
แม้เสียงสะท้อนเหล่านี้ สส.ส่วนหนึ่งอาจหวังว่า จะส่งผลไปถึงการตัดสินในของนายกฯ ต่อการปรับ ครม. ที่คาดหมายกันว่า อาจมีขึ้นเร็วกว่ากำหนดเดิม เพราะยิ่งช้า ยิ่งไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล อีกทั้งล่าสุด สหรัฐฯ ยังเลื่อนกำหนดเจรจากับไทยเรื่องภาษีการค้ากับไทยออกไปแบบไม่มีกำหนด
แต่สุดท้าย ถูกปฏิเสธจากนายกฯ ส่งผลให้ความอึมครึม ไม่ชัดเจน สาระพันปัญหาและปมร้อน ยังคงปมคลุมต่อไป ไม่นับรวมเรื่องเจรจาประสานประโยชน์ระหว่างกัน ที่จะยังคงดำรงต่อไป
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว :