- อิสราเอลเปลี่ยน "ปาย" เมืองท่องเที่ยวที่เริ่มไม่สงบ
- ผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน ยันชาวอิสราเอลเที่ยวปายเดือนละ 2-3 พันคน
ไม่ต่างจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ที่นายกฯบอกว่า จะลงพื้นที่ไปดูของจริงในสัปดาห์หน้า พูดเสริมทันควันระหว่างไปประชุมครม.สัญจรที่ภาคใต้ จ.สงขลา
ย้ำเช่นกันว่า ข่าวถึงขั้นห้ามคนไทยเข้าไปในพื้นที่คงเป็นไปไม่ได้ ยกเว้นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หากเป็นร้าน โรงแรม หรือที่สาธารณะ จะปักป้ายห้ามคนไทยเข้าคงเป็นไปไม่ได้
คำพูดของทั้ง 2 คนชัดเจนว่า เป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องจริง เป็นการสวนทางกับท่าทีการแสดงออกของคนไทยที่อยู่ในเมืองปาย ซึ่งเคลื่อนไหวทั้งร้องเรียนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งแขวนป้าย โน อิสราเอล เฮีย (เขตปลอดชาวอิสราเอล) และยังโพสต์ข้อความผ่านโลกโซเชียล สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นที่อำเภอปาย เท่ากับคนไทยที่เคลื่อนไหวร้องเรียนเรื่องนี้เป็นฝ่ายผิด หรือไม่ใช่ข้อเท็จจริง
ทั้งที่โดยนิสัยคนไทยแล้ว โอบอ้อมอารีเป็นมิตรกับคนอื่น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากต่างบ้านต้างเมือง ที่สำคัญ คนไทยเหล่านี้ส่วนใหญ่มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว หรือการให้บริการนักท่องเที่ยว ย่อมต้องต้อนรับขับสู้เพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจ จะได้กลับมาท่องเที่ยวใหม่ในโอกาสหน้า หรือได้ผลพวงจากการพูดแบบปากต่อปาก หรือแชร์ในโลกโซเชียล เชิญชวนให้คนมาท่องเที่ยวที่นี่
ทั้งนี้ หากตรวจสอบข้อมูลสักหน่อย จะพบว่า ปัญหาจากคนอิสราเอลในเมืองปายมีมานานพอสมควรแล้ว แต่ถูกปล่อยปละถึงขั้นมีการลงหลักปักฐาน สร้างบ้าน ทำธุรกิจเปิดกิจการหลายอย่าง อาทิ รีสอร์ท ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินผ่านนอมินี รวมทั้งภรรยาที่เป็นคนไทย
สร้างโบสถ์ ชาบัด ออฟ ปาย ตั้งอยู่หลังโรงพักตำรวจ สภ.ปาย มีจัดกิจกรรมทั้งทางศาสนา และมีความรื่นรมย์ ครื้นเครง เพราะมีดนตรี ตั้งแต่วันศุกร์ถึงค่ำวันเสาร์ ส่งเสียงรบกวนชาวบ้านแบบไม่มีเกรงอกเกรงใจ โดยมีเจ้าหน้าที่ของไทย รวมทั้งตำรวจ ไปคอยดูแลอำนวยความสะดวกให้
ทำให้เกิดอาการกร่าง ด้อยค่าคนไทย ดูแคลนกระทั่งหมอที่คอยให้การรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยจนติดแบล็คลิสต์ มีเสพกัญชาแบบไม่เกรงกลัวกฎหมาย แม้แต่ในโรงพยาบาล
นอกจากนี้ยังทำตัวเป็น “ขาใหญ่” ในพื้นที่ เพราะนอกจากจะมีตำรวจไปคอยอารักขาดูแล อ้างว่ามีการร้องขอ แทนที่จะคอยปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยของคนไทยเจ้าของประเทศแล้ว
ส่วนหนึ่งของชาวอิสราเอลที่เดินทางเข้าออก เพื่อท่องเที่ยวและรื่นเริงกันเต็มที่ จะเป็นทหารที่พักรบหรือปลดประจำการในกองทัพอิสราเอล ที่มีปฏิบัติการเข่นฆ่าสังหารกลุ่มฮามาสและปาเลสไตน์ ไม่เว้นแม้แต่เด็กและสตรี ในเขตฉนวนกาซาและอื่น ๆ หลายหมื่นคน ในช่วงที่ผ่านมา
หนำซ้ำเว็บไซต์ Chabad ของชาวยิวในไทย ยังมีประกาศเชิญชวนคนยิว ให้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่ อ.ปาย บรรบายสรรพคุณว่า สงบสุขและมีธรรมชาติสวยงามกว่าอิสราเอล จนมีข้อมูลว่า ชาวอิสราเอลลงทะเบียนใน อ.ปายไว้ มากกว่า 3 หมื่นคน แม้จะมีบางคนออกมาแจกแจงว่า เป็นตัวเลขนักท่องเที่ยวที่รวมชาติอื่น ๆ ด้วย แต่เฉพาะตั้งถิ่นฐานอยู่ยาว มีประมาณ 3,000 คน
ทำให้คนเคยทำงานด้านความมั่นคง อย่างนายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีต รอง ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เตือนว่า จะมีชาวอิสราเอลกว่า สามหมื่นหรือเท่าไหร่ ไม่สำคัญ แต่เมื่อคนเมืองปายออกมาตะโกนดังๆแบบนี้ ต้องมีความหมาย รัฐบาลและมหาดไทย รวมทั้งฝ่ายความมั่นคง ต้องลงไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น
แม้รัฐบาลต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่ต้องมีขีดจำกัด ไม่ใช่อ้าซ่าให้คนต่างชาติเข้ามาปู้ยี่ปู้ยำประเทศแบบนี้ ทั้งเตือนว่า การปล่อยให้ชาวยิวเข้ามาเกาะกลุ่มตั้งชุมชน และตั้งโบสถ์ที่ยังไม่มั่นใจว่าขึ้นทะเบียนถูกต้องหรือไม่แล้ว ยังจะเป็น “เป้าล่อ” ตัวจริง ดึงดูดการก่อการร้ายของกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงหรือไม่
ไม่ต่างจากนายไพศาล พืชมงคล อดีตผู้ช่วยรองรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ออกโรงวิพากษ์แบบจัดหนักเรื่องนี้ โดยย้ำว่า ไม่ใช่เพียงจีนเทา รัสเซียเทา หรือญี่ปุ่นเทาเท่านั้น ที่เข้ามากระจายยึดหัวหาดขยายอิทธิพลในทำเลทองต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงอิสราเอลเทา ที่ยึดพื้นที่ทางเหนือ โดยเฉพาะ อ.ปาย ตั้งบ้านตั้งเมืองกันแล้ว
ขณะที่กรรมาธิการความมั่นคง สภาผู้แทนฯ ที่มีนายรังสิมันต์ โรม แกนนำพรรคประชนเป็นประธาน ออกโรงขานว่า ได้รับทราบเรื่อง หลังได้รับการร้องเรียนทั้งจากสส.และคนในพื้นที่ จึงพร้อมจะลงพื้นที่ไปตรวจสอบที่ต้นตอ ทั้งตั้งประเด็นคำถาม ที่โดนใจคนไทยจำนวนไม่น้อยว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐคอยให้ท้ายหรือไม่
นำไปสู่การออกคำสั่งและขีดเส้น 7 วันของ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพชร ที่ให้ตำรวจตรวจสอบเรื่องนี้ พร้อมสั่งทุกหน่วยคุมเข้มมาตรการคนต่างด้าวที่มีพฤติกรรมแอบแฝง ผิดกฎหมาย หรือก่อความเดือดร้อนต่อประชาชน หากพบให้ดำเนินคดี และเพิกถอนใบอนุญาตอย่างจริงจัง ทำเอาตำรวจใน อ.ปาย วิ่งกันจ้าละหวั่นเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
ท่ามกลางคำถามมากมาย ไม่รู้ปล่อยปละละเลยกันมานานได้อย่างไร หรือมีอะไรบดบังสายตา หรือเป็นเจ้าหน้าที่อยู่ดี ๆ กลับอยากเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ครั้งนี้ จึงเชื่อว่าจะตื่นตัวกันบ้าง แต่ที่สำคัญ ต้องไม่ยึดรูปแบบ หรือวิธีการทำงานแบบเดิม ๆ คือทำแบบไฟไหม้ฟาง
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว : เบื้องหลังปัญหา "อิสราเอลยึดปาย" เสียงสะท้อนคนพื้นที่ต้องเผชิญ