ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"มั่นคง" ส่องชายแดนไทย-เมียนมา หลังตัดไฟ-อินเทอร์เน็ต เมียวดี

การเมือง
5 ก.พ. 68
18:39
88
Logo Thai PBS
"มั่นคง" ส่องชายแดนไทย-เมียนมา หลังตัดไฟ-อินเทอร์เน็ต เมียวดี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเดินทางมาเยือนไทยของ "หลิว จงอี” ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงและสาธารณะ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในเวลาติด ๆ กันถึง 2 ครั้ง ส่งผลให้รัฐบาลไทยต้องขยับตัว สั่งให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตัดกระแสไฟฟ้า-อินเทอร์เน็ต เมืองเมียวดี เมียนมา เร็วขึ้น หลังจากในแต่ละหน่วยงานเกิดปรากฏการณ์โยนลูก ”เกี่ยง” กันไปมา

ครั้งแรก "หลิว จงอี" พบ "พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม" มีการให้ข้อมูลคลิปวิดีโอเกี่ยวกับการกระทำผิดของประเทศเพื่อนบ้าน "ศูนย์กลางแก๊งคอลเซนเตอร์" ก่อนจะเดินทางลงพื้นที่ชายแดนแม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2567

ต่อมา 4 ก.พ.2568 "หลิว จงอี" และ "อู๋ จื้ออู่" อัครราชทูตจีนประจำประเทศ ไทย พบ "ภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ ที่ปรึกษา รมว.กลาโหม และ พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ รองปลัดกระทรวงกลาโหม จนนำไปสู่คำสั่งตัดกระแสไฟฟ้า ในวันนี้ (5 ก.พ.)

"ไม่กดดัน 4 ข้อร้องขอจีน" ไทย "สนองตอบ 2 ข้อ"

"เขามีข้อมูลในหลายส่วนเยอะ... ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพราะจีนได้รับความเสียหายมาก เขาก็มาคุยเรื่องแก๊งคอลเซนเตอร์ ซึ่งเรื่องนี้ทำความเสียหายให้ทุกประเทศ ซึ่งไทยก็เสียหาย โดยในหนึ่งปีมีผู้เป็นเหยื่อ 557,500 ราย สูญเสียเงินกว่า 68,000 ล้านบาท หากคิดเป็นรายวันตกวันละ 80 ล้านบาท เราก็ต้องจัดการ" รมว.กลาโหม บอกหลังจากพบ "หลิว จงอี"

จึงเป็นที่มาของการให้สัมภาษณ์ของ "แพทองธาร ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี ว่า ได้มีคำสั่งตัดไฟฝั่งเมียนมาแล้ว โดยให้ตัดทันที และหลังประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสร็จสิ้น ช่วงค่ำวันเดียวกัน "ภูมิธรรม" ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ได้สั่งให้ตัดไฟ 

หากย้อนดู 4 ข้อร้องขอ "หลิว จงอี" พบว่า รัฐบาลไทยได้เร่งดำเนินแล้ว 2 ข้อ คือ 1.ตัดบริการสาธารณูปโภค เช่น ตัดไฟฟ้า และสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่แก๊งคอลเซนเตอร์ ใช้ในการกระทำ ความผิดในฝั่งเมียนมาแล้ว

และ 2.การตั้งศูนย์ประสานงาน ระหว่างไทย-จีน ที่บริเวณชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก

ส่วนข้ออีก 2 ข้อที่เหลือ เรื่องการขอให้ไทยเจรจากับชนกลุ่มน้อย ที่ปกครองบริเวณชายแดนเมียนมา ปล่อยตัวชาวจีนที่ถูกหลอกไปทำงานกลับมาไทย ซึ่งจีนเชื่อว่ามีประมาณ 3,000 - 5,000 คน

และทั้งเรื่องขอให้จับกุมชาวจีนที่กระทำความผิด เกี่ยวกับแก๊งคอลเซนเตอร์ ที่บริเวณชายแดนประเทศเมียนมา ซึ่งทางการจีนเชื่อว่า น่าจะมีจำนวนมากกว่า 50,000 คน ยังไม่ได้มีการดำเนินการ แต่ "ภูมิธรรม" ระบุว่า ต้องมีการหารือร่วมระหว่างสามประเทศ คือ ไทย จีน และเมียนมา

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีรายงานจากฝั่งเมียนมา หลังไทยตัดกระแสไฟฟ้าเมืองเมียวดีว่า พ.อ.หม่องชิดตู่ ผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF ) ที่มีฐานอยู่ในเมืองชเวโก๊กโก ได้วางแผนที่จะส่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการหลอกลวงออนไลน์ หรือคอลเซนเตอร์ ที่เดินทางมาถึงในพื้นที่จำนวน 61 คน ซึ่งรวมถึงชาวจีน 39 คน, ชาวอินเดีย 13 คน, ชาวปากีสถาน 1 คน, ชาวเอธิโอเปีย 1 คน, ชาวอินโดนีเซีย 5 คน, ชาวมาเลเซีย 1 คน และชาวทาจิกิสถาน 1 คน มายังประเทศไทย

โดยมีแผนจะส่งคนกลับมาให้ฝ่ายไทย เดือนละ 1,000 คน และมีการตรวจสอบเอกสารอย่างละเอียด เป็นการประสานงานระหว่างรัฐบาลไทยและเมียนมา

ทั้งนี้การส่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงออนไลน์ เกิดขึ้นหลังจากมีการจับกุมกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และการตรวจสอบการดำเนินการผิดกฎหมายที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมที่อาจกระทบต่อความมั่นคงในประเทศไทย

เมืองท่าขี้เหล็ก ไม่สะเทือน? ส่งวิศวกร ติดตั้งใช้ไฟฟ้าลาว

สำหรับความเคลื่อนไหวตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา หลังจากมีการตัดกระแสไฟฟ้า ในฝั่งไทยยังคงเป็นปกติ ในขณะที่ฝั่งประเทศเมียนมาพบว่า ทุกปั้มน้ำมัน ฝั่งเมียวดี มีชาวบ้านจำนวนมากขับรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ มาเติมน้ำมันแน่นขนัดทุกปั้ม หลังไทย ตัดไฟฟ้า เชื้อเพลิง และอินเทอร์เน็ต

ภาพจาก Tachileik News Agency

ภาพจาก Tachileik News Agency

ภาพจาก Tachileik News Agency

สำนักข่าว Tachileik News Agency รายงานว่า เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการกำกับดูแลไฟส่องสว่างของเมือง (การจำหน่ายไฟฟ้า) แจ้งว่า คณะกรรมการอำนวยการไฟฟ้านครหลวงท่าขี้เหล็ก ได้มีแผนเตรียมจ่ายกระแสไฟฟ้าจากลาวมายังเมืองเขตท่าขี้เหล็ก ทดแทนไฟฟ้าจากไทย โดยได้เตรียมพร้อมวางแผนติดตั้งสายส่งไฟฟ้าใหม่ลาวไว้ล่วงหน้าแล้ว

แต่ยังไม่ทราบว่าสมาคมผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเทศบาลท่าขี้เหล็กจะวางแผนอย่างไรหากประเทศไทยหยุดส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง

บ่ายวันเดียวกัน คณะกรรมการไฟฟ้าท่าขึ้เหล็ก ได้ให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าและวิศวกร ทำการเชื่อมต่อไฟฟ้าจากลาวมาใช้แล้ว โดยมีการซื้อไฟฟ้าจากลาว 30 เมกกะวัตต์ และไทย 20 เมกกะวัตต์ แต่หลังจากไทยตัดไฟ จึงต้องใช้ไฟฟ้าจากลาวทั้งหมด 30 เมกะวัตต์ ในช่วงค่ำวันนี้ (5 ก.พ.)

ส่อง "ชายแดนไทย-เมียนมา" หลังตัดไฟฟ้า-อินเทอร์เน็ต

การหยุดแหล่งอาชญากรรมข้ามแดน สแกมเมอร์ และคอลเซนเตอร์ ด้วยการตัดไฟ แม้จะเป็นมาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หลังจากพบว่า ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ แต่อีกด้านหนึ่ง ก็อาจมีผลกระทบอื่น ๆ ตามมาด้วยเช่นกัน

โดยฝั่งเมียวดี อาจเกิดการแย่งชิงเส้นทางส่งกำลังถนนสายเอเชีย (AH1) ในช่วงเมืองกอกะเร็ก รัฐกะเหรี่ยง ระหว่างกองทัพเมียนมา และกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ( Karen National Union ) และ กองกำลังพิทักษ์ประชาชน ( People’s Defence Force: PDF) ไม่สามารถขนส่งสินต้าได้ และอาจมีผลต่อระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ

และมีผลต่อระบบตรวจคนเข้าเมือง ทำให้ต้องปิดการผ่านเข้า-ออกในจุดผ่านแดน รวมทั้งระบบศุลกากรในโครงสร้างพื้นฐานบริเวณจุดผ่านแดนถาวรสะพาน มิตรภาพ 2 ซึ่งอาจต้องปิดการนำเข้าและส่งออกเช่นกัน

มีการประเมินกันว่า อาจมีกองทัพมดลักลอบนำเข้า-ส่งออกสินค้า ผ่านช่องทางอื่น ๆ โดยเฉพาะสินค้าต้องห้าม และทำให้ธุรกิจส่งรถมือสองผ่านแดนทั้งแบบวันเดียว และแบบฟรีโซนจะชะลอตัว

ประเด็นข้อกังวล ในขณะนี้ คือ ผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขไทย เพราะโรงพยาบาลในเมียวดีจะขาดประสิทธิภาพ อาจจำเป็นต้องส่งต่อผู้ป่วยมายังในเขตไทยมากขึ้น และจะมีปัญหาลักลอบหลบหนีเข้าเมืองเพื่อมาหางานทำในพื้นที่ชายแดนและภายในบ้านเราเพิ่มขึ้น รวมทั้งการลักขโมย ปล้นสะดมภ์ กระทบต่อชุมชนชายแดนเขตไทย

นอกจากนี้ ภารกิจหลักที่หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง เป็นพิเศษ คือ กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้ง BGF และ KNU หรือกลุ่มผู้นำอื่น ๆ จะใช้ชุมชนชายแดนไทยเป็นพื้นที่ก่อกำลัง ฟื้นฟู กระจายตัวไปบริเวณแนวชายแดนเขตไทย และมีความเป็นไปได้สูงที่ กลุ่มลูกจ้างคนงานในพื้นที่กลุ่มจีนเทาจะลักลอบหลบหนีออกจากพื้นที่เพื่อกลับถิ่นฐานมายังเขตไทย

ยังไม่รวมผลจากผลพวงที่สหรัฐอเมริกาตัดความช่วยเหลือด้านต่างๆ และการปิด USAID ซึ่งจะทำให้กลุ่มองค์กร NGOs ต่าง ๆ ต้องหยุดความช่วยเหลือด้าย มนุษยธรรมบริเวณแนวชายแดน ทั้งงานด้านสาธารณสุข การศึกษา ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน

เป็นสถานการณ์ชายแดน ที่ต้องจับตาในระยะยาวว่า นับจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นและการปราบปรามอาชญากรข้ามชาติจีนเทา แก็งคอลเซนเตอร์ สแกมเมอร์จะหายไปหรือไม่ และทางการจีนจะเข้ามีบทบาทในเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร

อ่านข่าว : สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนระอุ กกร.หวั่นสินค้าจีนแย่งตลาดไทย

ผบ.ตร.แจงปมไม่เด้ง "ผกก.นครนายก" ปมบ่อนพนัน

เปิดใจ "ป้าเล็ก" บัณฑิตอายุ 75 ปี คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง