วันนี้ (3 ก.พ.2568) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ของภาคคมนาคมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยให้ประชาชนโดยสารรถไฟฟ้า และรถโดยสารสาธารณะองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฟรี ระหว่างวันที่ 25 - 31 ม.ค.2568 เบื้องต้น คาดว่าจะไม่มีการต่อมาตรการแล้ว
และในวันที่ 4 ก.พ. 2568 กระทรวงคมนาคมจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของบกลาง 190.41 ล้านบาท เพื่อชดเชยรายได้จากมาตรการ ส่วนกรณี บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) จะขออุดหนุนเพิ่มนั้น เรื่องนี้ ขอมาได้ แต่เราไม่ให้ โดยตัวเลขที่ประมาณชดเชย บีทีเอส คือ 133.04 ล้านบาท ไม่มีเพิ่ม
ขณะที่จากการประเมินผล 7 วัน วันที่ 25 ม.ค.2568 ซึ่งเป็นวันแรกของการเริ่มใช้มาตรการฯ พบว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ กทม. ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน จากการรายงานของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ยังระบุว่า ในวันที่ 25 - 26 ม.ค. 2568 พบว่า จำนวนปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลลดลง 350,000 คัน ส่งผลให้ปริมาณมลพิษในอากาศลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ลดลงประมาณ 2,000 กิโลกรัมต่อวัน และแก๊สไนโตรเจน ยังลดลงกว่า 14,800 กิโลกรัมต่อวัน
และเมื่อเทียบกับช่วงก่อนใช้มาตรการดังกล่าว ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 25 - 31 ม.ค.2568 มียอดผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 14,506,212 คน - เที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.62 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนเริ่มมาตรการในวันที่ 18 - 24 ม.ค. 2568 ที่มีจำนวนผู้โดยสารรวม 10,389,766 คน - เที่ยว
ขณะที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้รายงานข้อมูลสถิติจำนวนผู้โดยสารใช้บริการรถเมล์ฟรี ตั้งแต่วันที่ 25 - 31 ม.ค. 2568 พบว่า มีผู้ใช้รวม 5,007,491 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.8 เมื่อเทียบกับ 7 วัน ก่อนเริ่มมาตการในวันที่ 18 - 24 ม.ค.2568 ที่มีจำนวนผู้โดยสารรวม 3,660,088 คน
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า จากตัวเลขยอดผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สะท้อนให้เห็นว่า "ราคา" มีผลต่อการใช้บริการระบบรถไฟฟ้า ดังนั้น จึงมั่นใจว่า มาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายที่จะให้บริการครบทุกสี ทุกสาย ทุกเส้นทางในช่วงเดือน ก.ย. 2568 นี้ จะมีผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน นอกจากนั้น ผู้ใช้บริการยังได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง จากการเริ่มใช้ พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ด้วยการใช้บัตรโดยสารใบเดียว ที่สามารถเดินทางเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะอย่างครอบคลุม
รศ.ประมวล สุธีจุวัฒน อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มาตรการรถไฟฟ้าฟรี หากมองแบบผิวเผินในแง่ของประชาชนที่อยู่ในเขตเมือง มองว่า เป็นด้านดี เป็นการช่วยเหลือให้เขาได้ลดทอนค่าใช้จ่าย ที่เกิดขึ้นในช่วงสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นแบบปัจจุบัน
แต่ภายใต้เงื่อนไขนั้น มองว่าต้องพิจารณามิติอื่นด้วย โดยเฉพาะมิติของการใช้งบประมาณของภาครัฐ ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ภายใต้เงื่อนไขว่ามีงบประมาณจำกัด ต้องมาจัดลำดับความสำคัญว่าอะไรควรทำก่อน อะไรควรทำหลังโจทย์คำถามที่สำคัญก็คือ โครงการนี้ เงินงบประมาณที่รัฐบาลจะต้องจ่ายลงไป ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของงบงบกลางที่เอามาใช้เป็นเงินก็ดี หรือว่าเป็นงบประมาณแฝง ที่ให้หน่วยงานของรัฐเป็นฝ่ายรับผิดชอบไปในทางบัญชี มองว่าเรื่องนี้จะต้องกลับมาพิจารณาว่า ความคุ้มค่ามีมากน้อยแค่ไหน
สิ่งแรกก็ต้องตั้งคำถามว่าการทำโครงการจะนำไปสู่ สถานการณ์หรือเงื่อนไข ที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างไร อันดับแรก น่าจะต้องมีการประมาณการว่า หากมีการใช้นโยบายนี้ขึ้นมา ปริมาณผู้โดยสารที่จะเติมเข้ามาสู่ในระบบ ทั้งผู้โดยสารที่ใช้งานเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นไปเรียนหนังสือ ไปทำงานหรือว่าไปเดินทางไปช้อปปิ้งซื้อของ ใช้ชีวิตตามปกติ จะมีส่วนตรงนี้เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ 2.จะมีผู้โดยสารที่เป็นที่เป็นความต้องการแฝง เพิ่มขึ้นเข้าไปในระบบยังไง ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว ชาวไทยชาวต่างชาติก็ดี รวมไปถึงสิ่งที่หลายท่านอาจจะพูดถึงก็คือมีผู้ใหญ่หลายท่านก็มาใช้โอกาสนี้ในการทดลองใช้ระบบ
ผลกระทบที่เกิดขึ้น มองว่าต้องเรียกว่าหนักพอสมควร เพราะว่าจากยอดผู้โดยสาร ซึ่งเคยเห็นว่าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 1.6 ล้านหรือ 1.7 ล้านคน-เที่ยวต่อวัน สำหรับวันธรรมดาวันจันทร์ถึงวันถึงวันศุกร์เข้าใจว่าขึ้นไปถึง 2.4 -2.5 ล้านคน-เที่ยวต่อวัน ปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นมีผลกระทบโดยตรงกับผู้ให้บริการทุกสาย จะต้องมีการเตรียมเจ้าหน้าที่มารองรับเพิ่มมากขึ้น เตรียมมาตรการรักษาความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น
สิ่งที่น่าสนใจคือ สมมุติว่า รัฐบาลมีนโยบายให้บริการรถไฟฟ้าและขนส่งสาธารณะฟรีเป็นเวลา 7 วัน แล้วไปทำให้เกิดผลกระทบกับวิธีการการทำงานและการดำเนินชีวิตของผู้คนที่ที่เดินทางตามปกติ เช่น ไปทำงานหรือไปเรียนหนังสือ และทำให้เกิดความยุ่งยากหรือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อาจต้องประเมินว่า คุ้มค่าจริงหรือไม่
ประเด็นที่ 2 ที่สำคัญมาก คือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จะจ่ายให้กับเอกชนที่ต้องรับผิดชอบโครงการ เทียบเท่ากับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยไม่ได้ประเมินว่ามีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากความผิดปกติ ผมว่าอาจจะไม่ค่อยเป็นธรรมนักกับภาคเอกชนเพราะว่าก็ต้องยอมรับว่ามันเกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมา ตัวเลขประมาณการซึ่งเคยเห็น มีผู้โดยสาร 1.7 ล้านคน-เที่ยววัน พอมันโอเวอร์ไปเป็น 2.5 ล้าน เที่ยวนี่เป็นเรื่องไม่ธรรมดา
ตัวเลขที่ต้องชดเชยให้เอกชน
จากการประเมินเบื้องต้น มีตัวเลขสำคัญอยู่สองชุด ชุดแรกคือ ค่าโดยสารเฉลี่ยของผู้โดยสารแต่ละสาย ซึ่งแตกต่างกันไปตามระยะทางที่เดินทาง บางคนอาจโดยสารเพียง 2 สถานี ในขณะที่บางคนเดินทาง 5 สถานี หากทราบค่าโดยสารเฉลี่ย เราสามารถคำนวณโดยประมาณได้ว่าภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว ค่าใช้จ่ายรวมของทั้งระบบจะเป็นเท่าใดเมื่อเทียบกับจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริง
ยกตัวอย่างเช่น กรณีแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ อาจจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณเที่ยว 30 บาท สายสีแดงค่าเฉลี่ย 20 บาท สายสีน้ำเงิน อยู่ที่ 30 บาท สายสีม่วง อยู่ที่ 15 บาท สายสีเขียว อยู่ที่ประมาณ 35 บาท สายสีทอง อยู่ที่ประมาณ 15 บาท สายสีชมพูประมาณ 30 บาท
หากใช้ตัวเลขเหล่านี้เป็นฐาน แล้วนำไปคูณกับจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริงในสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยให้สามารถประมาณการได้ว่า หากอัตราการเพิ่มของจำนวนผู้โดยสารเป็นไปตามลักษณะที่เป็นมาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อสิ้นวันศุกร์น่าจะมียอดผู้โดยสารรวม ไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านเที่ยว
เมื่อนำจำนวนเที่ยวโดยสารของแต่ละสายมาคูณด้วยค่าเฉลี่ยจะพบว่าภายใต้เงื่อนไขค่าเฉลี่ยของตัวโดยสารเป็นแบบเดิม ยอดของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นน่าจะอยู่ที่ประมาณ 450 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ตั้งอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าพฤติกรรมการนั่งเหมือนเดิม แต่จากการสังเกตพบว่าผู้โดยสารบางส่วนเริ่มเดินทางยาวขึ้น จำนวนสถานีที่นั่งก็ยาวขึ้น เพราะฉะนั้นมีโอกาสเป็นไปได้ว่าค่าเฉลี่ยของตัวเนี่ยอาจจะแพงขึ้น
อธิบายคือ หากค่าโดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เช่น จาก 35 บาท เป็น 38 บาท ผลที่ได้ก็คือว่าตัวเลขกลมกลมของค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาท แต่ตัวเลขที่กระทรวงคมนาคม รายงานว่าต้องชดเชยเพียง 190 ล้านบาท ดูแตกต่างจากประมาณการข้างต้นอย่างมาก
ตัวเลข 190 ล้านบาท เข้าใจว่าเป็นค่าชดเชยให้กับเอกชนที่ไม่อยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคม ซึ่งหากพูดแบบตรงไปตรงมาตอนนี้ก็คงจะต้องเป็นกลุ่มของสายสีเขียว สายสีทอง และ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นั่นหมายความว่า งบประมาณส่วนนี้จึงถูกจัดสรรให้แก่ 3 หน่วยงานดังกล่าวโดยเฉพาะ
ซึ่งน่าจะหมายถึงผู้ให้บริการสายสีเขียว สายสีทอง และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ดังนั้น งบประมาณส่วนนี้จึงถูกจัดสรรให้แก่ 3 หน่วยงานดังกล่าวโดยเฉพาะ ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายจริงของระบบอาจอยู่ระหว่าง 450-550 ล้านบาท ซึ่งมีส่วนหนึ่งเป็นตัวเลขทางบัญชี ที่ให้กับโอเปอเรเตอร์ หรือผู้ให้บริการเดินรถ ซึ่งอยู่สังกัดกระทรวงคมนาคม ได้แก่ กลุ่มสายสีม่วง สีน้ำเงิน สีชมพูสายสีเหลือง
ลักษณะแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า 190 ล้านบาท ที่มีการพูดถึงนั้น เป็นตัวเลขค่าใช้จ่ายที่แท้จริง แต่อาจจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ถูกเลือกให้จ่ายให้กับหน่วยงานที่พูดง่ายๆคือไม่ได้อยู่ในอำนาจของของกระทรวงคมนาคมที่ที่จะไปบังคับบังคับบัญชาได้ กรณีแบบนี้ จึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าการจัดสรรงบประมาณให้กับกลุ่มผู้ให้บริการสายสีเขียว สีทอง และ ขสมก. มีความเหมาะสมเพียงใด
ข้อมูลที่ได้นำมาต่อยอดรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทได้หรือไม่
ข้อมูลที่ได้จากมาตรการรถเมล์-รถไฟฟ้าฟรีจะเดินหน้าต่อหรือไม่ ยิ่งเรามีข้อมูลมากหลากหลายมิติ จะกำหนดนโยบายให้สัมพันธ์โดยตรงกับพฤติกรรมของคนใช้บริการ และภายใต้เงื่อนไขหากมีข้อมูลเยอะแล้วเราสามารถทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลนั้นได้ดี นโยบายอะไรที่เกิดขึ้นจะสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเกิดเมื่อไหร่ก็ตาม การตัดสินใจหรือการกำหนดนโยบาย ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของพฤติกรรมข้อมูล แต่เป็นการกำหนดนโยบายขึ้นมาโดยคาดเคลื่อนของการทำความเข้าใจข้อมูล ก็อาจจะไม่ใช่จังหวะเวลาที่เหมาะสมนัก
อ่านข่าว : "ทักษิณ" พบ "อันวาร์" ถกวาระอาเซียน นายกฯ เผยเน้นความสงบเมียนมา