วันนี้ (23 ม.ค.2568) ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งพบว่าเช้านี้มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานระดับสีแดงและสีส้มเกือบทุกพื้นที่โดยบางเขตตรวจวัดค่าฝุ่นในระดับสีแดงมากกว่า 100 มคก.ต่อลบ.ม.เกินมาตรฐาน 3 เท่าที่กำหนดไม่ 37.5 มคก.ต่อลบ.ม.เช่น เขตคลองสามวา ทวีวัฒนา บึงกุ่ม คันนายาว เป็นต้น
ขณะที่ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งปฏิบัติการบรรเทาปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วยการใช้เทคนิคลดอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศผกผัน ด้วยการพ่นละอองน้ำและโปรยน้ำแข็งแห้ง เพื่อเป็นการเจาะช่องบรรยากาศให้สามารถระบายฝุ่นละอองต่อไปได้
- PM 2.5 คุกคามสุขภาพ รวมพิกัด "คลินิกมลพิษทางอากาศ"
- "นายกฯ" สั่ง "คมนาคม" ให้ประชาชนขึ้น "รถไฟฟ้า - รถ ขสมก." ฟรี 7 วัน พรุ่งนี้
โดยแผนปฏิบัติการของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะทำการบินทุกวันในช่วงเช้าตั้งแต่ 10.00 น.และช่วงบ่ายตั้งแต่เวลา 14.00 น.ใช้เวลาบิน 1.30-2 ชั่วโมง ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำการบินในเขตพื้นที่ กทม.
โดยจะบูรณาการร่วมกับ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ในการกำหนดชั้นความสูง และกำหนดพื้นที่ในกรุงเทพชั้นใน เพื่อทำปฏิบัติการลดฝุ่น ซึ่งบางจุดอาจมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางการบินของเครื่องบินเชิงพาณิชย์ชั่วคราว เพื่อให้ปฏิบัติการได้อย่างปลอดภัย
สำหรับผลการปฏิบัติการสลายฝุ่น เพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล (ข้อมูล 22 ม.ค.) พบว่า ภายหลังปฏิบัติการ ค่าความเข้มข้นฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) มีแนวโน้มลดลง
ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และจากการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษมากที่สุด พบว่าอันดับของ กทม.จากเดิมที่มีค่าคุณภาพอากาศ (AQI) เท่ากับ 168 (อันดับที่ 14) เปลี่ยนเป็นค่าคุณภาพอากาศ (AQI) เท่ากับ134 (อันดับที่ 21) แสดงให้เห็นว่า กทม.เป็นเมืองที่มีค่ามลพิษทางอากาศลดลง เมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ทั่วโลก
แนวโน้มได้ผลดี-ค่าฝุ่นลดบางจุด
แหล่งข่าวจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ระบุว่า ปฎิบัติการสลายฝุ่นในพื้นที่กทม.ถือเป็นปีแรกที่ได้รับอนุญาตให้ทำการบิน เนื่องจากมีเรื่องความปลอดภัยการบิน ประกอบกับปีนี้ฝุ่น PM2.5 เขตกทม.มีแนวโน้มสูงมากจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
ทุกๆเช้าจะมีการประชุมตรวจสอบว่าพื้นที่ไหนของกทม.ที่มีฝุ่นสูง เพื่อที่นักบินจะก่อนบินวัดคุณภาพอากาศ กับตรวจวัดความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.1-3 ไมโครเมตร
โดยวันนี้หน่วยดัดแปรสภาพอากาศ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมทีมนักบินและเจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมเครื่องบิน ทดสอบเครื่องมือเมฆฟิสิกส์และหัววัดขนาดต่าง ๆ เครื่องบิน Super King Air 350 ขึ้นบินจากท่าอากาศยานหัวหิน ไปยังท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศและประเมินระดับชั้นอุณหภูมิผกผันประจำวัน
เทคนิคของการสลายฝุ่น คือใช้น้ำแข็งแห้งโปรยเพื่อลดอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศให้เย็น พอเย็นแล้วจะเจาะช่องบรรยากาศให้สามารถระบายฝุ่นละออง
ทั้งนี้ก่อนการโปรยน้ำแข็งแห้งจะมีตรวจสอบค่าฝุ่นก่อนและหลังการสลายฝุ่นด้วยเทคนิคนี้ โดยการโปรยน้ำแข็งแห้งเพื่อระบายฝุ่นละออง จะเครื่องบิน CASA 3 ลำ CARAVAN จำนวน 1 ลำ ขึ้นบินที่รดับความสูง 4,800-5,200 ฟุต ขึ้นวนก้นหอยรัศมีประมาณ 5 ไมล์ แต่ละเที่ยวบินต้องใช้น้ำแข็งแห้ง 2,000 กก.และบรรทุกน้ำมากกว่า 4,480 ลิตรขึ้นไปโปรย โดยตามแผนจะดำเนินการต่อเนื่องไปถึงสิ้นเดือนก.พ.นี้
พิษณุโลก ฝุ่นหนาแน่นถึงระดับ 3,500 ฟุต
ขณะที่ข้อมูลจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ระบุว่า เมื่อเวลา 09.10 น. ทดสอบระบบเครื่องมือฟิสิกส์ และตรวจความพร้อมเครื่องบินก่อนบินวัดคุณภาพอากาศ โดยเครื่องบิน Super King Air 350 ขึ้นบินจากท่าอากาศยานพิษณุโลก ไปยังท่าอากาศยานเชียงใหม่ เพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศและประเมินศักยภาพการระบายฝุ่นละอองประจำวันบริเวณท้องฟ้า
จากการบินปฏิบัติการ ด้วยเครื่องบิน Super King Air 350 เวลา 10.20 - 10.30 น.หน่วยพิษณุโลก พบว่าท้องฟ้ามีเมฆชั้นสูงปกคลุมบางส่วน เริ่มมีฝุ่นละอองขนาดเล็กถูกกักเก็บในชั้นบรรยากาศ ที่ระดับความสูงต่ำกว่า 5,500 ฟุต และมีฟ้าหลัวหนาแน่นที่ระดับความสูงต่ำกว่า 8,000 ฟุต
เมื่อพิจารณาข้อมูลการตรวจวัดอนุภาคฝุ่นที่มีขนาด 0.1-3 ไมครอน บริเวณสนามบินเชียงใหม่ และพื้นที่โดยรอบ พบว่าการกระจายของอนุภาคฝุ่นละอองมีมากขึ้นเมื่อเครื่องบินใกล้ผิวพื้นมากขึ้น พบฝุ่นละอองมีความหนาแน่นมากที่ระดับความสูงประมาณ 3,500 ฟุต และ 1,600 ฟุต ลงไปจนถึงระดับผิวพื้น โดยมีความหนาแน่นมากกว่าวันที่ผ่านมา
อ่านข่าว :
วันนี้ 60 จว.ฝุ่นเกินมาตรฐาน คาด 1-2 วันข้างหน้าแนวโน้มฝุ่นเพิ่มขึ้น
จะเกิดอะไร? เมื่อร่างกายเจอ "ฝุ่น PM 2.5"
วิกฤตฝุ่น PM2.5! กลาโหมบูรณาการเร่งแก้ปัญหาคุกคามสุขภาพ