วันนี้ (15 ม.ค.2568) น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกรณีการตรวจสอบ OPPO (ออปโป้) และ realme (เรียลมี) ติดตั้งแอปพลิเคชันกู้เงินเถื่อน โดยใช้เวลาประชุมกว่า 2.30 ชั่วโมง
ภายหลังการประชุม น.ส.จิราพร เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ สคบ. ได้เชิญทั้ง 2 บริษัทเข้ามาชี้แจง และรับทราบว่าทาง กสทช. ได้หาข้อมูลและข้อเท็จจริงเช่นเดียว รวมไปถึงตำรวจสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือในประเด็นนี้ ซึ่งได้มีการสรุปเป็นประเด็นหลัก คือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อยับยั้งความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้ประสานกับบริษัทมือถือ เพื่อถอนแอปพลิเคชันออก โดยทั้ง 2 บริษัท จะแจ้งผลกลับมาภายในพรุ่งนี้ (16 ม.ค.) ว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่
และขณะนี้เองยังไม่มีกฎหมายหรือมาตรการที่สามารถบังคับให้เขาถอนแอปฯ ออกได้ เป็นเพียงขอความร่วมมือ ส่วนการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ตนทราบว่าแม้แต่ กสทช. ก็ไม่ได้มีกฎหมายที่จะไปตรวจสอบแอปฯ ที่ติดตั้งมากับมือถือ อำนาจหน้าที่สามารถตรวจสอบได้เพียงฮาร์ดแวร์ และหน่วยงานอื่นๆ ไม่มีกฎหมายที่สามารถตรวจสอบเชิงรุกได้ จึงมีการพูดคุยกันว่าจะตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานขึ้นมา เพื่อดูว่าใครจะสามารถเป็นเจ้าภาพอุดช่องโหว่ เพื่อเป็นการป้องกันเชิงรุกได้
จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
โดย น.ส.จิราพร อธิบายว่า แอปฯ ในลักษณะนี้ มีอยู่ 2 ส่วน คือแอปฯ ที่ติดมากับมือถือ ซึ่งจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อป้องกันการติดตั้งแอปฯ ที่ประชาชนไม่ต้องการและละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และอีกส่วนหนึ่ง เป็นแอปฯ ที่โหลดได้ในแอปสโตร์ หรือ เพลย์สโตร์ ตนได้มีการหารือกับการธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะเป็นผู้ถือกฎหมายในการอนุญาตประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยจะไปดูว่ามีกลไกอะไร หรือตั้งคณะกรรมการที่มีตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจแอปฯ
ขณะเดียวกัน น.ส.จิราพร ยังระบุถึงการเปิดรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ซึ่งถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สคบ. ดูแลคุ้มครองผู้บริโภค จะดูคดีแพ่งให้กับประชาชน และดูแลเรื่องสิทธิ์ของประชาชน ประสานกับ บก.ปคบ. อีกส่วนตัวคือทางตำรวจ หรือ บก.ปคบ. จะรับเรื่องร้องเรียนจากสภาผู้บริโภค เพื่อดูว่าหน่วยงานใดในตำรวจจะรับผิดชอบดูแลต่อ
ส่วนจะสามารถไกล่เกลี่ยในส่วนที่มีประชาชนไปใช้งานเงินกู้และจ่ายดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่าเงินต้นได้หรือไม่ น.ส.จิราพร กล่าวว่า หากมาร้องเรียนกับ สคบ. จะเชิญผู้เสียหายเข้ามาให้ข้อมูล ว่าแอปฯ นั้น ปล่อยเงินกู้เกินกว่าอัตราที่กฎหมายหรือไม่ ซึ่งจะผิด พ.ร.บ. การธนาคาร แต่ในเบื้องต้น เท่าที่ตรวจสอบทั้ง 2 แอปฯ ไม่ได้ขออนุญาต ฟินอีซี่ เป็นเพียงแพลตฟอร์มการโฆษณา ไม่ใช่แอปฯ สำหรับการปล่อยกู้ แต่บริษัทปล่อยกู้เข้ามาโฆษณาในแอปฯ นั้น แต่แอปฯ สินเชื่อความสุข เป็นแอปฯ ปล่อยเงินกู้ และไม่ได้ขออนุญาต ตนจะให้ผู้เสียหายเข้ามาให้ข้อมูล เพราะหากแอปฯ ดังกล่าวปล่อยกู้เกิน 15% ก็ถือว่าผิดกฎหมาย
เมื่อถามว่าที่ผ่านมามีความพยายามอ้างว่า แอปฯ ถูกติดตั้งมาจากตัวเครื่องที่ประเทศจีน จะทำให้บริษัทไม่ต้องรับผิดชอบหรือไม่ น.ส.จิราพร กล่าวว่า ทางตำรวจ สอท. เชิญบริษัทเข้ามาให้ข้อมูล และขีดเส้นในวันพรุ่งนี้ (16 ม.ค.) เพื่อสอบถามถึงที่มาการติดตั้งแอปฯ รวมไปถึงตรวจสอบว่าผิดกฎหมายใดหรือไม่
เมื่อถามต่อว่าหากมีความผิด ผู้ที่รับผิดชอบจะต้องเป็นส่วนใดบ้าง น.ส.จิราพร กล่าวว่า แอปฯ เป็นการติดตั้งโดยที่ไม่ได้รับการยินยอม หากตรวจสอบแล้วพบว่าให้กู้อัตราดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด ก็จะถือว่ามีความผิด และหากเป็นเช่นนี้จะถือว่าบริษัทมือถือมีส่วนสนับสนุนให้กระทำความผิด ทั้งบริษัทแอปฯ ออปโป้และเรียลมีจะต้องรับผิดชอบ
เมื่อถามย้ำว่าบริษัทที่รับผิดชอบต้องเป็นบริษัทที่ประเทศจีนหรือเป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายของประเทศไทย น.ส.จิราพร กล่าวว่า ต้องตรวจสอบว่าเจ้าของบริษัทเป็นคนจีนหรือคนไทย แต่บริษัทมือถือเองมีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย อย่างไรก็ต้องมีคนรับผิดชอบในประเด็นนี้ ซึ่งโทษจะมีทั้งจำและปรับตามกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย หากตนจำไม่ผิดมีการปรับหลักล้าน
น.ส.จิราพร ยังระบุอีกว่า จากการประสานของ กสทช. จะทราบจำนวนเครื่องที่จำหน่ายไปแล้วในวันพรุ่งนี้ (16 ม.ค.) ขณะนี้มีผู้มาร้องเรียนต่อ สคบ.ประมาณ 20 ราย และมีผู้ร้องเรียนต่อสภาผู้บริโภคอีกส่วนหนึ่งด้วย พร้อมย้ำว่า ประชาชนที่ได้รับความเสียหายสามารถร้องเรียนได้กับ สคบ.ในหลายช่องทาง ทั้ง 1166 และออนไลน์ สิ่งใดที่เราสามารถใช้กฎหมายของ สคบ. ดูแลผู้บริโภคได้ก็จะทำทันที อะไรที่เกินขอบเขตอำนาจ ก็จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและดูแลประชาชน
เมื่อถามว่าคนที่ลบแอปฯ ไปแล้ว แต่กลับมีไลน์มาทวงหนี้ จะจัดการอย่างไร น.ส.จิราพร กล่าวว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการอุดช่องโหว่ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ยอมรับว่าบางทีไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องบูรณาการกันหลายมิติ
อ่านข่าว :
วิธีปิดแอปพลิเคชัน Fineasy บนมือถือ OPPO - realme