ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ขยะ" โจทย์ใหญ่ ปัญหาวัดฝีมือ นายก อบจ.นครศรีฯ คนใหม่

การเมือง
21 พ.ย. 67
15:40
108
Logo Thai PBS
"ขยะ" โจทย์ใหญ่ ปัญหาวัดฝีมือ นายก อบจ.นครศรีฯ คนใหม่
“จะให้เอาขยะไปทิ้งไหน” เสียงเรียกร้องคนคอน ต่อ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช คนใหม่ เร่งแก้ปัญหาขยะล้นเมือง

ถ้าเป็นช่วงปกติ ท่อซีเมนต์ที่ถูกต่อทับขึ้นไปหลายชั้นใกล้เมรุเผาศพ ของวัดใหม่ไทยเจริญ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช เพียงพอที่จะใช้เผาขยะทุกวันจากวัด และโรงเรียนอนุบาลวัดใหม่ไทยเจริญ ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน

แต่วันนี้ขยะจำนวนมาก โดยเฉพาะขยะพลาสติก ขวดแก้ว และเศษอาหาร จากบ้านเรือนในชุมชนละแวกใกล้เคียง เริ่มเกลื่อนกลาดรอบพื้นที่หลังเมรุเผาศพ เพราะตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา

ทาง อบต.นบพิตำ ได้ทำหนังสือไปยังเจ้าบ้านทุกหลัง ว่า อบต.ไม่สามารถจัดเก็บขยะทั้ง 9 หมู่บ้าน ในตำบลได้ หลังได้รับแจ้งจากทางเทศบาลนครนครศรีธรรมราชว่า ไม่อนุญาตให้นำขยะไปทิ้งในบ่อขยะของทางเทศบาลตามคำสั่งศาลปกครองนครศรีธรรมราช ทำให้ชาวบ้านในชุมชนไม่มีที่ทิ้ง และนำมาทิ้งบริเวณนี้แทน

ครูบางคนระบุว่า กังวลใจ หากปัญหานี้ยังไม่มีทางออก ทำให้ขยะถูกนำมาทิ้งบริเวณนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งโรงเรียนก็พยายามปลูกฝังจิตสำนึก ในการลดขยะที่ต้นทางให้กับเด็ก ๆ ทั้งการขอให้นำกระป๋องน้ำที่นำกลับมาใช้ได้อีก เพื่อลดแก้วพลาสติก รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าที่มาขายอาหารในโรงเรียน เพราะกลัวว่า ขยะจะเพิ่มขึ้น ในพื้นที่หลังเมรุเผาศพ

ตอนนี้โรงเรียนพยายามปลูกฝังเด็ก ๆ ซึ่งโรงเรียนมีขยะอยู่แล้ว แต่เราก็พยายามแปรสภาพจากขวดน้ำพลาสติก จากเดิมจะทิ้ง เราก็บอกเด็ก ๆ ให้แต่ละห้องเก็บและเอามาขายให้ครู ครูจะติดต่อให้คนรับซื้อของเก่ามารับซื้ออีกทอดหนึ่ง

จากนั้นครูจะนำเงินไปให้เด็ก ๆ บางคนบอกว่า จะเอาเงินไปกินเลี้ยงปีใหม่ บางคนมาถามครูว่า จะเอาขวดน้ำจากบ้านมาขายด้วยได้ไหม ครูก็ยินดี

ขยะที่ถูกนำมากองไว้ริมถนน เพราะไม่มีที่ทิ้งมานานเกือบ 2 เดือนแล้ว บางส่วนถูกลักลอบนำมาทิ้งในที่สาธารณะ ขณะที่บ้านบางหลังที่พอมีพื้นที่หรืออยู่ห่างไกลชุมชน ก็ใช้วิธีเผาเอง แต่บ้านที่อยู่ในเขตชุมชนเกิดปัญหาอย่างหนักเพราะไม่มีที่ทิ้ง

บ่อขยะของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช มีขยะสะสมมากกว่า 2 ล้านตัน และถูกดำเนินคดีฟ้องร้องจนต้องปิดบ่อขยะ และงดรับขยะจากพื้นที่นอกเทศบาลจาก อปท.ต่าง ๆ 50 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ทำให้ขยะในทุก อบต.ตกค้างในชุมชน

ซึ่งแม้ปัญหาขยะในจังหวัดนครศรีธรรมราช จะเป็นปัญหาใหญ่ และลุกลามจนนำไปสู่การต่อสู้ในศาลแล้ว แต่หากย้อนมองนโยบายของท้องถิ่น ผ่านการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด การเสนอตัวเข้ามาแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังก็ยังมีน้อยมาก

ตรงกับความเห็นของนักวิชาการ บางคน เห็นว่า ในการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับ อบจ. แม้หลายทีมที่เสนอตัว จะเขียนนโยบายต่าง ๆ แต่ในทางปฏิบัติจริง กลับพบว่า ระหว่างการหาเสียง จะอาศัยความเป็นเครือข่าย เพื่อดึงคะแนนเสียงมากกว่า จะใช้นโยบายเพื่อดึงดูด

รศ.ดร.บูฆอรี ยีหมะ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา กล่าวว่า การเมืองในระดับท้องถิ่น แม้ผู้สมัครจะประกาศนโยบายว่า จะพัฒนาด้านต่าง ๆ แต่มันก็แตกต่างกับการเมืองระดับชาติ ซึ่งเมื่อประกาศนโยบายแล้วคนก็จะจับตามอง ทวงถาม มันจึงยังเป็นเรื่องยากที่คนจะมองเห็นนโยบาย หรือขานรับนโยบายได้ชัดในการเมืองท้องถิ่น พูดง่ายๆ คือ พอมาเป็นการเมืองท้องถิ่น ตัวนโยบายมักจะมาเป็นรอง ตัวเครือข่าย หรือเครือญาติ ที่จะมาเป็นปัจจัยสำคัญ หรือ ตัวแปรที่ทำให้เรียกคะแนนเสียงแทน

การแข่งขันที่ดุเดือดของผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช ทั้ง 4 คน ก็ใช่ว่า จะไม่มีนโยบายเกี่ยวกับปัญหาขยะเสียทีเดียว เพราะมีผู้สมัครหลายคน ชูนโยบายแก้ปัญหาขยะเป็นนโยบายหลักๆ เช่น การจัดการขยะค้างเก่า ให้เหลือประมาณร้อยละ 20 การลดขยะที่ต้นทาง หรือการสร้างเตาเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า หรือการแก้ปัญหาขยะแบบครบวงจร

หลังวันที่ 24 พ.ย.ที่การเลือกตั้งนายก อบจ.เสร็จสิ้น ก็จะเป็นการพิสูจน์ว่า นโยบายเหล่านี้ถูกนำมาทำจริงหรือไม่

เรียบเรียง : ติชิลา พุทธสาระพันธ์ ไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้

อ่านข่าว :

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง