วันนี้ (5 พ.ย.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ครั้งที่ 2/2567 เห็นชอบตามที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เสนอให้พิจารณาร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2 ฉบับสำคัญ ได้แก่ การกำหนดให้ตัวเงินตัวทอง เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ และการกำหนดชนิดสัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้เก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกแอ่นได้
สำหรับตัวเงินตัวทอง หรือเหี้ย จากเดิมที่มีสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ 62 ชนิด จะเพิ่มเป็น 63 ชนิด โดยการเพิ่มตัวเงินตัวทอง (Varanus salvator) เข้าไปในรายการ
เนื่องจากพบว่าในปัจจุบันมีการเลี้ยงเพื่อเป็นสัตว์สวยงาม ถือเป็นสัตว์ที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หนังของเหี้ยมีลายละเอียด นุ่ม เหนียว ทนทาน มีการใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์เครื่องหนังอย่างกว้างขวาง
ซึ่งเมื่อประกาศแล้วผู้ที่มีความสนใจในการประกอบกิจการเพาะพันธุ์สามารถขออนุญาตในการเพาะพันธุ์เหี้ย ทำผลิตภัณฑ์จากหนังเหี้ย และสามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า สามารถผลักดันให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจได้ในอนาคต
นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีโครงการศึกษาวิจัยการเลี้ยงและใช้ประโยชน์จากตัวเงินตัวทองเตรียมพร้อมไว้ระดับหนึ่งแล้ว
ตัวเงินตัวทองหรือเหี้ยที่ปลดล็อกให้เพาะะเลี้ยงขายได้
ปลดล็อกนกนางแอ่นกินรังเลี้ยงได้
ในส่วนของนกแอ่น ร่างประกาศฉบับนี้ มีการกำหนดชนิดสัตว์ป่าคุ้มครอง 2 ชนิด ได้แก่ นกแอ่นกินรัง (Aerodramus fuciphagus หรือ Aerodramus germani) และนกแอ่นหางสี่เหลียม หรือ นกแอ่นรังดำ (Aerodramus maximus) ที่อนุญาตให้เก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังได้ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในการใช้ประโยชน์ จากรังนกแอ่นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถนำไปสู่การกำหนดหลักเกณฑ์ในกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายด้านอาคาร กฎหมายด้านสาธารณสุข เป็นต้น
อ่านข่าว "เหี้ย" สวนลุมฯ ปรับตัวเข้าธรรมชาติสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน
ทั้งนี้ ร่างประกาศทั้ง 2 ฉบับ ได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาตามกฎหมายของกรมอุทยานฯ และคณะอนุกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเรียบร้อยแล้ว
นกนางแอ่นกินรัง
ชี้ปลดล็อกช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญ เห็นชอบทั้ง 2 ส่วนของร่างประกาศ เนื่องจากเห็นว่าการใช้หลักฐาน และใบอนุญาตจะช่วยให้ผู้ประกอบการยื่นขออนุญาตง่ายขึ้น และฝ่ายกฎหมายได้คลายข้อกังวลในเรื่องที่อาจจะมีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
อ่านข่าว ไขคำตอบ! "เหี้ย" ยึดพื้นที่กรุงเทพ
สำหรับการออกประกาศทั้ง 2 ฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาสมดุลของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยกรมอุทยานฯ จะดำเนินการศึกษาติดตามผลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
ส่วนรายละเอียดของพื้นที่เลี้ยงเหี้ยและนกนางแอ่นกินรัง ทางกรมอุทยานจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3-6 เดือน
สำหรับตัวเงินตัวทอง (เหี้ย) เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามลำดับที่ 19 ตามพ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ห้ามเลี้ยง ซื้อ ขาย หรือครอบครอง ต้องมีการขออนุญาตเพาะเลี้ยงจากกรมอุทยานฯ ก่อน ฝ่าฝืนมีความผิดมีโทษจำคุก 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์ เคยเข้ามาจับเหี้ยทางธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ให้เข้ามาจับตัวเหี้ยในพื้นที่เมือง กทม.และชุมชน เนื่องจากมีประชากรเพิ่มขึ้น จากสภาพพื้นที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัย ทั้งแหล่งน้ำ บ่อปลา จนทำให้เหี้ยขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว
รู้จักตระกูลเหี้ยไทย 4 ชนิด
ก่อนหน้านี้ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน เคยทดลองพบว่าไข่ 40 ฟองอาจพบว่ามันยากมาก แค่พลิกก็จะฝ่อแล้ว การเพาะยาก ดังนั้นจึงตอบคำถามว่าทำไมกรมอุทยานฯ ถึงยังไม่ให้เพาะเลี้ยงเหี้ยเชิงการค้า
ที่ผ่านมา เหี้ยยังถูกคุกคาม ถูกล่ามาเป็นอาหาร ใช้เป็นส่วนประกอบยารักษาโรค ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง และอื่นๆ อีกมากมาย
กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช คุ้มครองสัตว์ตระกูลเหี้ย 4 ชนิดคือ ตัวเงินตัวทอง หรือเหี้ย ตัวตะกวดหรือแลน ตุ๊ดตู่ และเห่าช้าง ห้ามมิให้ผู้ใดล่าหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากสัตว์ป่าดังกล่าว หากฝ่าฝืนมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ