ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

5 เรื่องน่ารู้ “ทิศทางเศรษฐกิจไทย 2567”


Insight

6 ม.ค. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
แชร์

5 เรื่องน่ารู้ “ทิศทางเศรษฐกิจไทย 2567”

https://www.thaipbs.or.th/now/content/646

5 เรื่องน่ารู้ “ทิศทางเศรษฐกิจไทย 2567”
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ปีที่ผ่านมาเรียกได้ว่าเป็นปีแห่งการฟื้นตัวจากช่วงวิกฤติโควิด-19 ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทั้งการพัฒนาของเทคโนโลยี การเมืองทั้งในและต่างประเทศ เศรษฐกิจไทยดูจะเติบโตได้ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ แล้วปีหน้าจะเป็นอย่างไร ? เศรษฐกิจจะดีขึ้นได้แล้วหรือยัง ?
Thai PBS ขอชวนทุกคนมาดูทิศทางเศรษฐกิจไทย กับผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจาก 3 แวดวง ได้แก่ ภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กอบสิทธิ์ ศิลปะชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย และสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร
มาร่วมทำความเข้าใจภาพรวมในปีก่อนและเตรียมตัวรับมือกับปีใหม่นี้ ทิศทางเศรษฐกิจไทย 2567 จะเป็นอย่างไร ? มีอะไรที่เราควรรู้ไว้บ้าง

ภาพรวมโลกกลับมาฟื้นตัวสมบูรณ์

ในปี 2566 ที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้จากตัวเลข GDP ที่อยู่ที่ประมาณ 3-3.5% ทว่าสภาพเศรษฐกิจไทยเทียบกับช่วงโควิด-19 ก็มีการฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะจากภาคการท่องเที่ยว สิ่งที่ทำให้ตัวเลขการเติบโตลดลงก็คือภาคการส่งออกของประเทศซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจจีนที่โตน้อยกว่าที่คาด รวมถึงช่วงจังหวะของเศรษฐกิจโลกที่ลดการผลิตลงจึงลดการนำเข้าตามมาด้วย

ภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย มองภาพที่เกิดในปีที่ผ่านมาเป็นความไม่สมดุลจากที่อุปสงค์หรือความต้องการบริโภคมีการฟื้นตัวดีขึ้น แต่การส่งออกกลับไม่มีอุปทานหรือกำลังการผลิตที่มากพอ ทว่าภาพรวมยังคงเป็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมาจากเศรษฐกิจนอกระบบทั้งการค้าขายออนไลน์ ห้างร้านค้ารายย่อย จึงไม่ควรยึดติดกับตัวเลข GDP เพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ ภูริชัย คาดการณ์ว่า ทิศทางของเศรษฐกิจไทยปี 2567 นั้นจึงเป็นภาพของความพร้อมสำหรับการฟื้นตัวของภาคการผลิตจากต่างประเทศที่จะเริ่มกลับมา การกลับมาสมดุลมากขึ้นของการส่งออกและบริการที่ไม่จำเป็นต้องเร่งตัวเองมากนัก โดยรวมแล้วจึงเป็นภาพรวมที่ดูดีกว่าปีที่ผ่านมา

ภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

ดอกเบี้ยนโยบายชี้ “เศรษฐกิจไทยเริ่มยืนได้ด้วยตัวเอง”

ดอกเบี้ยนโยบายถือเป็นนโยบายทางการเงินอย่างหนึ่งที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ หากขึ้นสูงจะเป็นการควบคุมหรือชะลอเศรษฐกิจไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อมากเกินไป ขณะที่หากดอกเบี้ยนโยบายน้อยลงหรือคงที่ เงินจะมีมูลค่ามากขึ้น ทำให้เกิดการใช้จ่ายหรือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว

จากช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ดอกเบี้ยนโยบายจากธนาคารกลางในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยก็มีการปรับตัวเพื่อเป็นมาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจ โดยมีการปรับลงในช่วงวิกฤติรุนแรง และมีการปรับขึ้นตามเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว โดยประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายช้ากว่าประเทศอื่น ๆ

ภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยว่าสาเหตุที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับตัวขึ้นช้ากว่า มาจากการที่เศรษฐกิจของไทยยังมีการฟื้นตัวได้ช้า ที่ผ่านมาการปรับดอกเบี้ยลงไปถึง 0.5% มีการปรับขึ้นตามการฟื้นตัวจนล่าสุดกำลังจะปรับไปอยู่ที่ 2.5% เป็นอัตราดอกเบี้ยในระดับกลาง สะท้อนถึงภาพเศรษฐกิจที่สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการฟื้นตัวที่ยืนอยู่บนปัจจัยพื้นฐานที่ดีแล้ว

เศรษฐกิจไทยเริ่มยืนได้ด้วยตัวเอง

หุ้นไทยโต...แต่ยังคงไร้นวัตกรรมใหม่

ในช่วงปีที่ผ่านมา การฟื้นตัวหลังโควิด-19 ดูสดใสและเต็มไปด้วยโอกาส ทว่าวิกฤติครั้งใหญ่ของอสังหาริมทรัพย์จีนส่งผลกระทบต่อเนื่องผ่านจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง และกระทบต่อมายังหุ้นไทย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านการเมืองในช่วงเลือกตั้ง ซ้ำร้ายด้วยเรื่องอื้อฉาวจากการทุจริตในตลาดหุ้น ส่งผลให้หุ้นไทยที่ดูน่าจะเติบโตในช่วงปีก่อน กลายเป็นตลาดหุ้นที่ตกต่ำเกือบที่สุดในภูมิภาคเอเชียในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา

แล้วหุ้นไทยในปี 2567 นี้ละ ? กอบสิทธิ์ ศิลปะชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย มองว่า ตลาดหุ้นไทยน่าจะดีขึ้นเพราะผ่านจุดที่ย่ำแย่มาแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นตลาดของอุตสาหกรรมเดิมเสียเป็นส่วนใหญ่ อันได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเกษตร การค้าปลีกรวมถึงการส่งออก ส่วนยังคงขาดนวัตกรรมที่ทิศทางการลงทุนในประเทศที่ยังจำกัด ลักษณะของหุ้นไทยจึงไม่ใช่ growth stock ที่คาดหวังการเติบแบบก้าวกระโดดอย่างประเทศอื่น แต่มีลักษณะที่เรียกกันว่า value stock หรือเน้นคุณค่า จึงควรมองหุ้นที่เน้นจ่ายปั่นผลสำหรับการลงทุนในเชิงตั้งรับมากกว่า

กอบสิทธิ์ ศิลปะชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

เทรนด์ท่องเที่ยวเน้นประสบการณ์แปลกใหม่และน่าจดจำ

การท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากโควิด-19 ผ่านพ้นไป ถึงตอนนี้เป็นที่รับรู้กันแล้วว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยมีสัดส่วนที่ต่างจากเดิม นักท่องเที่ยวจีนยังคงมีกลุ่มใหญ่แต่ลดน้อยลง ขณะที่มีนักท่องเที่ยวจากชาติอื่นเข้ามาทดแทน พฤติกรรมการท่องเที่ยวจึงเปลี่ยนไป

สง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร สรุปภาพการท่องเที่ยวในปี 2567 นี้ โดยมองว่านักท่องเที่ยวจีนยังคงมีความสำคัญเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มาเที่ยวกันทั้งครอบครัวรวมถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายสูง โดยมีวัฒนธรรมแบบเอเชียที่กินอาหารเป็นครอบครัวและมักซื้อของฝาก ซึ่งต่างจากนักท่องเที่ยวจากชาติยุโรปหรืออเมริกา

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมเหล่านี้เริ่มเปลี่ยนไป เนื่องมาจากการหมดไปของทัวร์ 0 เหรียญ จึงมีการเข้ามาเป็นครอบครัวกลุ่มเล็กลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเที่ยวสูงขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายในการท่องเที่ยวลดลง ทั้งนี้ สิ่งสำคัญสำหรับการท่องเที่ยวในยุคปัจจุบันคือประสบการณ์

นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวเพื่อค้นหาประสบการณ์ใหม่จึงต้องมีการออกแบบประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่น่าจดจำให้กับนักท่องเที่ยวได้สัมผัส เช่น สร้างสรรค์กิจกรรมอีเวนต์แปลกใหม่ ปรับเครื่องดนตรีสากลเป็นเครื่องดนตรีไทย จัดกิจกรรมแต่งชุดไทย หรือสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวของร้านค้าต่าง ๆ หรือสร้างเทศกาลหรือวัฒนธรรมบางอย่างที่มีความหมาย ทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเช็กลิสจุดหมายการเดินทางของเหล่านักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ จุดสำคัญคือการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาครัฐคือการต้องปรับบทบาทตัวเองใหม่ จากนักปกครอง (regulator) ให้เป็นนักพัฒนา (facilitator) เพื่อส่งเสริมไอเดียจากฝั่งผู้ประกอบการในพื้นที่ต่าง ๆ

สง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร

จับตา Solo Economy เทรนด์เศรษฐกิจตัวคนเดียว

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ครอบครัวขยายที่อาศัยอยู่กันแบบพร้อมหน้าหลายรุ่นในบ้านเดียวเริ่มลดน้อยลง ขยับสู่ครอบครัวเดี่ยวที่มักอาศัยอยู่เพียงพ่อแม่ลูก ทว่าถึงตอนนี้ผู้คนที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียวหรือที่เรียกกันว่า “ครัวเรือนคนเดียว” เริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ในช่วงหลายปีมานี้เอง เศรษฐกิจแบบตัวคนเดียว (Solo economy) เริ่มกลายเป็นเทรนด์ธุรกิจที่น่าจับตามอง และเกิดมากขึ้นทั่วโลก

โดยเฉพาะในประเทศไทย ข้อมูลของ Euromonitor ระบุว่า ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนคนเดียวสูงที่สุดในเอเชียแปซิฟิก

ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์และเก็บข้อมูลพบว่า พฤติกรรมของคนที่อยู่ตัวคนเดียวนั้นจะมีแนวโน้มใช้จ่ายในหลายส่วนเพิ่มขึ้น ได้แก่ ค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง ที่อยู่อาศัยแบบแนวดิ่ง (เช่น คอนโด หอพัก) รวมถึงการทำประกันสุขภาพเนื่องจากไม่มีใครดูแลเมื่อป่วยไข้ นอกจากนี้ยังมีธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับงานอดิเรกเพื่อคลายความเหงา เช่น การท่องเที่ยว การเลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ และกิจกรรมด้านศาสนา

การท่องเที่ยวตัวคนเดียวเริ่มมีมากขึ้น

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีภาพใหญ่ของการฟื้นตัวตามภาพรวมของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงพึ่งพาอุตสาหกรรมเก่าเป็นหลัก การเติบโตจึงยังคงจำกัด โดยการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ ยังไม่ได้รับการส่งเสริมให้ความสำคัญ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ การก้าวกระโดดไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ยังต้องอาศัยปัจจัยอื่น ๆ เช่น การแบ่งสัดส่วนการลงทุนในด้านวิจัยและพัฒนามากขึ้น ถึงตอนนี้อุตสาหกรรมใหม่จึงยังคงเป็นเพียงส่วนน้อยในภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
เศรษฐกิจติดบ้าน : แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายปี 2567
เศรษฐกิจติดบ้าน : ทิศทางหุ้นไทยปี 2567
เศรษฐกิจติดบ้าน : รอดหรือไม่ ? เศรษฐกิจไทยปี 2567
เศรษฐกิจติดบ้าน : แนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปี 2567 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เศรษฐกิจไทยเศรษฐกิจไทย 2567ท่องเที่ยวไทยหุ้นไทย2567Solo Economyเศรษฐกิจตัวคนเดียว
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด