เหตุการณ์อุทกภัยที่เชียงรายสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินไม่น้อย และหลังน้ำลด อีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นตามมา นั่นคือ โคลน!
เหล่าบรรดาโคลน ที่ถูกพัดพามากับกระแสน้ำ ยิ่งน้ำท่วมใหญ่ โคลนยิ่งมีจำนวนมาก เป็นปัญหาซ้ำในซ้ำ ที่ไม่ส่งผลดีกับร่างกายของเรานัก ดังนั้น มาเรียนรู้วิธีจัดการกับ “โคลน” เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นกันดีกว่า…
โคลน คืออะไร ?
โคลน คือ มวลตะกอนที่ยังไม่แห้งและแข็งตัว ประกอบด้วยดินและทราย ปนอยู่กับสารอื่น ๆ ที่มีขนาดเท่าเม็ดทราย สาเหตุที่ทำให้เกิดโคลน มักมากับสภาพน้ำท่วม โดยเฉพาะน้ำป่าที่ไหลหลาก มักพัดเอาโคลนจากบริเวณภูเขา ไหลมาพร้อมกับน้ำด้วยนั่นเอง
อันตรายจากโคลนถล่ม หรือ ดินถล่ม
อันตรายอย่างหนึ่งที่เกิดจากภาวะฝนตกหนัก นั่นคือ เกิดดินถล่ม หรือโคลนถล่ม มักเกิดหลังจากฝนตกหนักหรือหลังน้ำป่าไหลหลาก สัญญาณบอกเหตุว่าอาจเกิดโคลนถล่ม ได้แก่
- ฝนตกหนักมากเกิน 100 ม.ม./วัน
- ระดับน้ำในห้วยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
- สีของน้ำเปลี่ยนเป็นสีของดินภูเขา
- มีกิ่งไม้และท่อนไม้ไหลมากับน้ำ
- เกิดรอยแตกบนถนนหรือพื้นดินอย่างรวดเร็ว
“โคลน” ไม่ใช่แค่ทำลาย แต่ยังตามมาด้วย “โรคภัย”
แม้จะมีผู้นำโคลนบางชนิด มาใช้เพื่อประทินโฉมความงาม แต่สำหรับโคลนที่มีทั้งดิน กรวด ทราย มักนำพาเอาเชื้อโรคผสมมาด้วย จึงไม่ควรสัมผัส หรือนำเข้าสู่ร่างกาย เพราะจะทำให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ ดังนี้
- โรคเมลิออยโดสิส หรือโรคไข้ดิน เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย “เบอโคโดเลีย สูโดมาลิอาย (Burkholderia pseudomallei)” ซึ่งพบทั้งในดิน น้ำ และในพืชบางชนิด จึงสามารถติดเชื้อได้จากการลุยโคลนหรือลุยน้ำ หากติดเชื้อจะมีอาการไข้สูง และอาจพบฝีได้ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
- โรคฉี่หนู หรือ เล็ปโตสไปโรซิส สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเล็บโตสไปรา ที่อาศัยอยู่ในอวัยวะของสัตว์ เช่น หนู สุนัข โค กระบือ สุกร แพะ แกะ มูลของสัตว์เหล่านี้ ปะปนอยู่ตามพื้นดินหรือถนน เมื่อฝนตกลงมา ทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดไข้ ปวดเกร็งตามขา เบื่ออาหาร เยื่อบุตาอักเสบ และหากติดเชื้อในกระแสเลือด เสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้
- โรคตัวอ่อนพยาธิไชผิวหนัง โดยตัวอ่อนพยาธิอาศัยอยู่ในดิน ส่วนใหญ่เป็นพยาธิปากขอ จะไชเข้าไปทางผิวหนัง ผ่านทางรอยแผลหรือรูขุมขนในผิวหนังชั้นนอก หรือชั้นหนังกำพร้า เกิดผื่นเส้นนูนแดงคดเคี้ยวใต้ผิวหนังตามทางที่ตัวอ่อนพยาธิไชผ่าน ซึ่งทำให้มีอาการคัน และอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้
- โรคผิวหนัง เชื้อโรคที่มากับดินและน้ำ มักส่งผลให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง ยิ่งหากมีแผลที่เชื้อโรคสามารถผ่านเข้าไปได้ ยิ่งทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการมีแผลอักเสบและติดเชื้อ
วิธีจัดการทำสงครามกับ “โคลน”
การทำความสะอาด หรือจัดการกับโคลน ต้องทำตอนที่โคลนยังไม่แห้งสนิท เนื่องจากเมื่อดินโคลนแห้งและจับตัวแข็ง จะยิ่งกำจัดออกได้ยาก วิธีจัดการกับโคลน หลังน้ำท่วม ทำได้ดังนี้
- ขนสิ่งของทุกอย่างออกจากบ้าน พึงระวังสัตว์มีพิษที่ซุกซ่อนอยู่ตามข้าวของ เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย
- สำรองน้ำใส่ถังขนาดใหญ่ หรือหากมีเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง จะทุ่นแรงและประหยัดเวลาไปได้มาก
- รองเท้าบูตเป็นอุปกรณ์จำเป็น เพื่อกันพื้นลื่น รวมทั้งป้องกันสัตว์มีพิษ และเศษสิ่งแปลปลอมที่อาจทำให้เกิดแผลแก่ร่างกายได้
- กรณีที่โคลนสูงระดับแข้งหรือเอว ไม่ควรใช้จอบตักดิน ให้หารถดับเพลิงหรือรถน้ำขนาดใหญ่ เอาน้ำฉีดให้เหลวแล้วไล่โคลนออกจากบ้าน แต่ระดับพื้นดินนอกบ้านต้องต่ำกว่าบ้าน และทำทางน้ำให้น้ำไหลออกได้สะดวก
- เมื่อล้างบ้านสะอาดแล้ว ต้องล้างสิ่งของที่จะขนเข้ามาไว้ในบ้านให้สะอาดก่อนขนเข้าบ้าน
อุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการกำจัด “โคลน”
- รองเท้าบูต
- ไม้รีดน้ำ
- พลั่ว จอบ
- ถังใส่น้ำขนาด 60 ลิตรขึ้นไป
- ถุงมือ
- กระสอบพลาสติกใส่ขยะน้ำท่วม
การดูแลทำความสะอาดบ้าน เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อน้ำลดแล้ว ต้องช่วยกันจัดการกับสิ่งไม่พึงประสงค์ เพื่อความปลอดภัยของของสมาชิกในบ้านทุกคน