ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จัก Ditching การลงจอดในน้ำของเครื่องบิน ผู้โดยสารควรรู้อะไรบ้าง


Logo Thai PBS
แชร์

รู้จัก Ditching การลงจอดในน้ำของเครื่องบิน ผู้โดยสารควรรู้อะไรบ้าง

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1333

รู้จัก Ditching การลงจอดในน้ำของเครื่องบิน ผู้โดยสารควรรู้อะไรบ้าง
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ในทางการบินแล้ว การลงจอดฉุกเฉิน นอกจากการลงจอดบนพื้นดินแล้วยังมีสิ่งที่เรียกว่า “Ditching” หรือการลงจอดในน้ำ (Water Landing) อีกด้วย Ditching เป็นการลงจอดในน้ำภายใต้การควบคุมของนักบิน แตกต่างจากเครื่องบินตกสู่น้ำซึ่งเป็นการบินชนพื้นผิวรวมถึงพื้นผิวน้ำโดยไม่ได้ตั้งใจภายใต้การควบคุมของนักบิน ซึ่งเรียกในทางการบินว่า “Controlled Flight Into Terrain”

Seaplane หรือเครื่องบินที่ถูกออกแบบมาให้ลงจอดและขึ้นบินจากน้ำได้

การลงจอดในน้ำนอกจากจะเกิดขึ้นในกรณีฉุกเฉินแล้ว เครื่องบินบางชนิดถูกออกแบบมาให้ลงจอดในน้ำโดยเฉพาะ เช่น เครื่องบินทะเลและเครื่องบินสะเทินน้ำสะเทินบก ซึ่งถูกออกแบบมาให้สามารถร่อนลงน้ำและลอยอยู่เหนือผิวน้ำได้

นอกจากเครื่องบินแล้ว แคปซูลยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมก็ถูกออกแบบมาให้ลงจอดในน้ำด้วยเช่นกัน ด้วยการใช้ร่มชูชีพชะลอความเร็วก่อนที่จะกระแทกกับผิวน้ำ โดยที่ผิวน้ำจะทำหน้าที่เป็นผิวสำหรับดูดซับแรงกระแทก

US Airways เที่ยวบินที่ 1549 หลังการลงจอดฉุกเฉินในแม่น้ำฮัดสัน

การลงจอดฉุกเฉินในน้ำนั้นมักเกิดขึ้นกับเครื่องบินขนาดเล็กซึ่งมักมีเพียงเครื่องยนต์เดียว ทำให้เมื่อเครื่องยนต์ขัดข้องระหว่างบินเหนือทะเล ไม่สามารถบินกลับไปยังท่าอากาศยานได้ จึงจำเป็นต้องลงจอดในน้ำ การลงจอดในน้ำโดยเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีสองเครื่องยนต์นั้นมีโอกาสเกิดน้อยมาก แม้จะเสียไปหนึ่งเครื่องยนต์ ก็ยังมีอีกหนึ่งเครื่องยนต์ที่ใช้การได้ และสามารถพยุงเครื่องบินไปลงจอดที่ท่าอากาศยานที่ใกล้ที่สุดได้ การเสียสองเครื่องยนต์พร้อมกันนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม กรณีการเสียเครื่องยนต์สองเครื่องยนต์เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับเครื่องบิน Airbus A320 ของ US Airways เที่ยวบินที่ 1549 ซึ่งเสียสองเครื่องยนต์พร้อมกันหลังขึ้นบินได้ไม่นานจากการชนเข้ากับนก (Bird Strike) ทำให้ต้องลงจอดในแม่น้ำฮัดสันในปี 2009 เหตุการณ์ในครั้งนั้น ผู้โดยสารทุกคนรอดชีวิต

ปุ่ม _Ditching_ ในเครื่องบิน Airbus A330

หน่วยงานควบคุมการบินอย่าง FAA ของสหรัฐอเมริกาไม่บังคับให้นักบินต้องฝึกลงจอดในน้ำ แต่บังคับให้ลูกเรือในห้องโดยสารฝึกการอพยพผู้โดยสารในกรณีการลงจอดฉุกเฉินในน้ำ นอกจากนี้เครื่องบินส่วนใหญ่จะต้องมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตอย่างเสื้อชูชีพและแพลอยน้ำติดไปด้วยเสมอ

เครื่องบินบางลำ เช่น Airbus A330 ถูกออกแบบมาให้สามารถลงจอดในน้ำได้โดยเฉพาะ ซึ่งจะมีปุ่มสำหรับการลงจอดในน้ำโดยเฉพาะเมื่อกดแล้ว ระบบวาล์วของเครื่องบินจะถูกปิดทั้งหมดเพื่อชะลอการท่วมของน้ำภายในเครื่องบินและให้มีเวลาสำหรับอพยพมากที่สุด

การกู้ภัยหลังการลงจอดฉุกเฉินในน้ำของเครื่องบิน Boeing 737

หนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้โดยสารซึ่งเผชิญกับการลงจอดในน้ำต้องทำคือการคอยฟังคำสั่งจากลูกเรือของเครื่องบินซึ่งได้รับการฝึกสำหรับการอพยพระหว่างการลงจอดในน้ำมา เสื้อชูชีพภายในเครื่องบินนั้นมักจะเป็นระบบที่สามารถพองตัวเพื่อลอยได้อัตโนมัติ หากใครเคยอ่านใบปลิวด้านความปลอดภัยของเครื่องบินสำหรับการลงจอดในน้ำ อาจจะเคยอ่านผ่าน ๆ ว่า “ห้ามพองตัวเสื้อชูชีพขณะอยู่ภายในเครื่องบิน และให้พองตัวเสื้อชูชีพหลังออกจากเครื่องบินแล้วเท่านั้น” ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าหากน้ำท่วมเครื่องบินจนทั้งห้องโดยสารจมอยู่ใต้น้ำ ถ้าเสื้อชูชีพพองตัวอยู่ ตัวเราจะลอยติดอยู่กับเพดานของเครื่องบิน ไม่สามารถออกจากห้องโดยสารได้ และจมน้ำในที่สุด

เครื่องบิน Boeing 767-260ER ของ Ethiopian Airlines เที่ยวบินที่ 961 ลงจอดในน้ำหลังถูกจี้กลางอากาศสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ผู้โดยสารจำนวนมากจมน้ำเสียชีวิตจากการติดอยู่ภายในตัวถังของเครื่องบินเนื่องจากพวกเขาพองลมเสื้อชูชีพก่อนที่จะออกจากเครื่องบินได้สำเร็จ จากผู้โดยสารรวมลูกเรือทั้งหมด 175 คน มีเพียง 50 คนที่รอดชีวิต นอกนั้นเสียชีวิตจากการจมน้ำหรือแรงกระแทกจากการลงจอด

เรียบเรียงโดย โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Ditchingการลงจอดในน้ำWater Landingเครื่องบินThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech นวัตกรรมInnovationInnovation Tech World
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด