การวิจัยที่ดำเนินการโดยนักวิทยาศาสตร์ด้านการ “นอนหลับ” (Sleep) จากมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส (Flinders University) ในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย พบความเชื่อมโยงระหว่างการ “นอนกรน” (Snoring) และภาวะ “ความดันโลหิตสูง” (Hypertension) โดยผู้ที่นอนกรนเป็นประจำตอนกลางคืนมีแนวโน้มที่จะมีระดับความดันโลหิตสูง และมีภาวะความดันโลหิตสูงแบบควบคุมไม่ได้ (Uncontrolled Hypertension)
ภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertension) เกิดขึ้นเมื่อความดันในหลอดเลือดของบุคคลนั้นสูงเกินไป อาจทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อหัวใจ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะหัวใจล้มเหลว และโรคหัวใจ
การศึกษาดังกล่าวพบว่าร้อยละ 15 ของผู้เข้าร่วม 12,287 คน “นอนกรน” (Snoring) เฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 20 ของช่วงเวลากลางคืน ตลอดระยะเวลาการติดตามผล 6 เดือน โดยผู้ที่มีอาการนอนกรนรุนแรงจะมีค่าแรงดันในหลอดเลือดแดงขณะหัวใจบีบตัว 3.8 มิลลิเมตรปรอท (mmHg) และมีค่าแรงดันในหลอดเลือดแดงขณะหัวใจคลายตัว 4.5 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งมากกว่าผู้เข้าร่วมที่ไม่มีอาการนอนกรน
การศึกษาครั้งนี้ใช้หลายเทคโนโลยีเพื่อทำการติดตามที่บ้านตอนกลางคืนในระยะเวลานานเป็นครั้งแรก เพื่อตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างการนอนกรน (Snoring) และภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertension) โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาอยู่ในวัยกลางคน ซึ่งร้อยละ 88 เป็นผู้ชาย
เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 67 บาสเตียน เลชาต์ ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์และสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยฯ เปิดเผยว่าการศึกษาข้างต้นสามารถระบุได้ชัดเจนเป็นครั้งแรกว่าการนอนกรน (Snoring) ตอนกลางคืนเป็นประจำนั้นเชื่อมโยงกับภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertension) อย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งเน้นย้ำการให้ความสำคัญกับการนอนกรน (Snoring) ในฐานะปัจจัยเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการรักษาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ (Sleep) โดยเฉพาะในบริบทของการจัดการกับภาวะความดันโลหิตสูง
อนึ่ง องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ประมาณการว่าผู้ใหญ่ทั่วโลกอายุระหว่าง 30-79 ปี มีภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertension) จำนวนถึง 1.28 พันล้านคน และผู้ใหญ่ร้อยละ 46 ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertension) ไม่ทราบว่าตนมีภาวะดังกล่าว
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : bernama, xinhua
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech