นักวิจัยชาวแคนาดาเริ่มปฏิบัติการผลิตผลเบอร์รีตลอดทั้งปีด้วยฟาร์มแนวตั้ง ในอุโมงค์เกษตรที่ควบคุมด้วย AI ที่ช่วยดูแลการเจริญเติบโตที่เหมาะสมให้กับต้นเบอร์รี
เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรมีออกให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งโครงการอุโมงค์เกษตรเป็นอีกหนึ่งทางเลือกทางการเกษตรที่มีการนำเอาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยควบคุม โดยเป้าหมายของโครงการนี้คือเพื่อการผลิตอาหารในขนาดที่ใหญ่ขึ้น และช่วยแก้ปัญหาการผลิตเบอร์รีตลอดทั้งปีที่ต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
"อุโมงค์เกษตร" ประกอบไปด้วยเปลือกพอลิเมอร์เสริมใยไฟเบอร์ที่ปิดสนิท และปิดด้านบนด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์กึ่งโปร่งใสซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ที่พัฒนาโดยโครงการนวัตกรรมตะวันตกสำหรับการใช้พลังงานทดแทน โดยทีมนักวิจัยใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้า
นอกจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดบนหลังคาแล้วนั้น ยังมีการวางแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มเติมรอบ ๆ สถานีภาคสนามวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ซึ่งเป็นตั้งของโครงการ เพื่อช่วยปกป้องพืชกลางแจ้งจากสภาพอากาศที่รุนแรง โดยไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์นั้นเพียงพอที่จะจ่ายไฟให้กับไฟ LED ปั๊มน้ำ ปั๊มความร้อน และฮาร์ดแวร์ตรวจสอบที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อให้ฟาร์มทดลองสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องดึงพลังงานจากกริด
อุโมงค์เกษตรแบบเคลื่อนย้ายได้ด้วยระบบ Better Grow Lights และระบบการปลูกแบบใช้ออกซิเจนและไฮโดรโปนิกส์ ผสมผสานกับระบบเกษตรโวลตาอิกอันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้เกิดพื้นที่ปลูกพืชที่ประหยัดพลังงานและควบคุมสภาพอากาศ ซึ่งสามารถรองรับสภาพอากาศเลวร้ายและสภาพอากาศในแคนาดาได้
เบอร์รีที่นิยมปลูกในบ้านและนอกบ้านมีทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่ สตรอว์เบอร์รี บลูเบอร์รี ฮันนีเบอร์รี กูสเบอร์รี และบอยเซนเบอร์รี ซึ่งเบอร์รีทั้งหมดที่ปลูกในสถานีภาคสนามได้รับการตรวจสอบด้วยปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงระบบคอมพิวเตอร์วิทัศน์ เพื่อตรวจสอบความชื้น ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ และประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูง นอกจากนี้ผลเบอร์รียังได้รับการทดสอบภายใต้ความแข็งแกร่งที่แตกต่างกันของเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อค้นหาสภาวะที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเจริญเติบโตกลางแจ้งเมื่อเปรียบเทียบกับพืชในร่ม
ฟาร์มแนวตั้งมีความหนาแน่นสูงและยืดหยุ่น เพื่อให้ได้ผักและผลไม้ที่ดีต่อสุขภาพตลอดทั้งปีด้วยต้นทุนการผลิตต่ำ โดยระบบนี้เป็นแบบโมดูลาร์โดยสมบูรณ์ สามารถปรับขนาดให้เข้ากับสถานที่ต่าง ๆ และสภาพอากาศที่รุนแรงได้
ที่มาข้อมูล: newatlas, westernu
ที่มาภาพ: westernu
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech